เดิมพันระบบ "เอ็นทรานซ์ - แอดมิชชั่น" ขว้างงูไม่พ้นเด็ก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถ้านับเฉพาะการปรับปรุงระบบและวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยครั้งนี้ ถือว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจาณาในรายละเอียดและการแก้ปัญหาในเชิงระบบที่ใหญ่กว่านั้น ก็อาจจะยังมีโจทย์ที่ใหญ่กว่า ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับ เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงทบทวนและปรับปรุง



ใจความสำคัญที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึง การเตรียมเปลี่ยนระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจากแอดมิดชั่น มาเป็นการสอบและรับกลางร่วมกัน ซึ่งคล้ายกับระบบเอ็นทรานซ์เดิม คือ การยอมรับว่า อยู่ในช่วงทบทวนเรื่องนี้ในระดับนโยบายจริง เพราะที่ผ่านมา ติดกระดุมผิดเม็ด จนทำให้เกิดปัญหามากมาย พร้อมตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนระบบเอ็นทรานซ์มาเป็นแอดมินชั่นในปัจจุบันเกิดขึ้นในยุคใคร ซึ่งข้อเท็จจริงตามช่วงเวลา แนวคิดนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
 


 

อย่างไรก็ตาม หากดูจากพัฒนาการการเปลี่ยนระบบคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย ที่ทีมข่าว PPTV สรุปไว้ พบว่า การเปลี่ยนครั้งใหญ่ๆเกิดขึ้นประมาณ 4 ครั้ง และหากดูเหตุผลของการเปลี่ยนแต่ละยุคสมัย จะเห็นว่า เมื่อแก้ปัญหาจุดหนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาจุดหนึ่ง และเมื่อกลับไปแก้อีกจุดหนึ่ง ก็กลับมาเกิดปัญหาเดิม อย่างเช่น ก่อนเริ่มใช้ระบบเอ็นทรานซ์ในปี 2504 เวลานั้น เกิดปัญหานักเรียนวิ่งสอบตรง และเด็กเก่งก็ตระเวนสอบและสละสิทธิ์ ตัดโอกาสเด็กที่จำนวนหนึ่งที่ความสามารถทางวิชาการน้อยกว่า เมื่อเริ่มใช้ระบบเอ็นทรานซ์ ปัญหานี้หมดลง แต่ก็มาเกิดปัญหาใหม่ คือ การสอนในห้องเรียนไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กสอบแข่งขันในระบบเอ็นทรานซ์ได้ จนทำให้เด็กและผู้ปกครองจำนวนมาก ต้องทุ่มกับการเรียนกวดวิชา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีฐานะกับเด็กที่ครอบครัวมีทุนทรัพย์น้อย เป็นที่มาให้ที่ทำให้เกิดระบบแอดมิชชั่นมาแก้ปัญหา แต่เมื่อใช้ระบบแอดมิชชั่นมาช่วง 10 ปีนี้ ก็เกิดปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2504 คือ เด็กวิ่งรอกสอบตรงกับมหาวิทยาลัย และเพิ่มปัญหาใหม่เข้ามาอีก คือ เด็กจำนวนไม่น้อยทิ้งห้องเรียนตั้งแต่ยังไม่จบชั่นมัธยมศึกษาปีที่ 6



รองศาสตรย์วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เจ้าของบทกลอน เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ที่ต่อมามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีท่อนหนึ่งที่สะท้อนถึงรากของปัญหาในระบบการศึกษา จนกลายเป็นประโยคติดปาก ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว 

แม้จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบเพราะกระทรวงศึกษา ประกาศล่วงหน้า และมีแผนในการทำความเข้าใจ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มองว่า หากทำเพียงเท่านี้ จะยังไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ คือ การโยนภาระการคัดเลือกมาให้เด็กแบกภาระการสอบ ซึ่งสวนทางกับประเทศที่เจริญอย่างเช่นอังกฤษที่พยายามออกแบบระบบให้เด็กสอบน้อยที่สุด และใช้ข้อมูลการติดตามพฤติกรรมเด็กจากการเรียนมัธยมฯ มาเพิ่มน้ำหนักในหลักเกณฑ์การพิจารณาแทน ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมา พยายามทำเช่นนี้ แต่ยังติดขัดที่มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ไม่เอาด้วย

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า ปัญหาในระบบการคัดเลือกเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา เกิดจากการให้เสรีภาพมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมากจนเกินไป ซึ่งหลังจากนี้จะต้องพยายามจัดระบบ เพื่อให้การผลิตบัณฑิตตรงและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพมากที่สุด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ