วิเคราะห์คำตัดสินให้ “แอปเปิ้ล” จ่ายภาษีย้อนหลัง “ไอร์แลนด์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คำตัดสินของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ระบุให้แอปเปิ้ลจ่ายภาษีย้อนหลังให้กับไอร์แลนด์เป็นจำนวน 13,000 ล้านยูโร นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสหรัฐ

รัฐบาลสหรัฐออกมาตอบโต้ทันทีหลังคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีคำตัดสิน ให้บริษัทแอปเปิ้ลจ่ายภาษีย้อนหลังแก่ไอร์แลนด์ เป็นจำนวนเงินถึง 13,000 ล้านยูโร นำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า การสืบสวนคดีนี้ไม่เป็นธรรม และเป็นการแทรกแซงการเก็บภาษีของแต่ละประเทศ พร้อมกับชี้ว่า เรื่องนี้อาจจะกระทบต่อการลงทุนต่างชาติ บรรยากาศการทำธุรกิจในยุโรป และเจตนารมย์แห่งการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับ EU

ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสทั้งที่สังกัดพรรครีพับลิกันและเดโมเครตต่างก็ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน เช่นเดียวกับทำเนียบขาว ที่บอกว่า หากแอปเปิ้ลต้องจ่ายภาษีย้อนหลังนั้น อาจจะกระทบต่อการเก็บภาษีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีชาวอเมริกันคนอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งจะออกโรงเตือนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ให้ระมัดระวังการวางตัวเป็นผู้ตรวจตราภาษีโลก ที่มีอำนาจเหนือชาติอื่น และว่า EU มีอคติต่อธุรกิจสัญชาติสหรัฐฯ

 

ปฏิกิริยาหลังอียูลงดาบแอปเปิ้ลเสียภาษีย้อนหลัง

คำตัดสินของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ระบุให้แอปเปิ้ลจ่ายภาษีย้อนหลังให้กับไอร์แลนด์ เป็นจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากหลายฝ่าย ทั้งจากทางแอปเปิ้ลเอง รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ หรือแม้แต่รัฐบาลไอร์แลนด์ที่ไม่เห็นด้วยและเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน 

ทิม คุก ซีอีโอ ของแอปเปิ้ล เขียนในบล็อกว่า “คำตัดสินของอียูเป็นความพยายามที่จะรื้อประวัติศาสตร์ของแอปเปิ้ลในยุโรป เพิกเฉยต่อกฎหมายภาษีของไอร์แลนด์ และทำลายระบบภาษีระหว่างประเทศ”

โดย คุก ยืนยันว่า ที่ผ่านมาแอปเปิ้ลได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสรรพากรของไอร์แลนด์มาโดยตลอด ไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ  ส่วนในประเทศอื่นๆ แอปเปิ้ลก็ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ และไม่เคยมีการหลบเลี่ยงภาษีเลย  

นอกจากนี้ คำตัดสินดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงในวงกว้าง พูดในทางหนึ่ง เหมือนกับว่าอียูกำลังเสนอให้ไอร์แลนด์แก้ไขกฎหมายภาษีของตัวเองตามที่อียูคิดว่าควรจะเป็น ซึ่งกระทบกับอธิปไตยของชาติสมาชิกในการจัดเก็บภาษีในประเทศ

เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้แสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินของอียู โดย นายจอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมปกป้องสิทธิของผู้เสียภาษีชาวอเมริกันและธุรกิจสหรัฐฯ ในต่างแดนหากไม่ได้รับความเป็นธรรม”

เนื่องจาก แอปเปิ้ลอาจหักเงินจากภาษีที่แอปเปิ้ลต้องจ่ายให้สหรัฐฯ ไปจ่ายภาษีย้อนหลังให้ไอร์แลนด์  ซึ่งจะกระทบกับผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ โดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากสมาชิกสภาคองเกรสทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน ที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การกระทำดังกล่าวของอียูเป็นการ “ฉวยโอกาสหาเงินทางลัด”

ที่น่าแปลกใจคือ แม้แต่ ไมเคิล นูแนน รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ ก็ออกมาประกาศลั่นว่าจะอุทธรณ์คำตัดสินคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเช่นกัน ปฏิเสธเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าคลัง ที่สามารถนำมาใช้ระบบประกันสุขภาพได้ทั้งปี เสียอย่างนั้น

โดยนายนูแนน เค้ายืนยันว่า “สิ่งที่ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นมีความชอบธรรม...ตนคิดว่าสหภาพยุโรปกำลังเข้ามาแทรกแซงการแข่งขันระหว่างรัฐบาลอธิปไตย...เป็นความพยายามที่จะกดดันนโยบายภาษีโดยใช้กฎหมายการแข่งขันเป็นเครื่องมืออย่างไม่ตรงไปตรงมา”

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าอาจจะมีเหตุผลต่างกัน ทั้งสามฝ่ายอยู่ฝั่งเดียวกันคือไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เรามาย้อนดูกันอีกครั้งว่าทางอียูที่ยืนอยู่โดดเดี่ยวฝ่ายเดียว เขาอธิบายเหตุผลของคำตัดสินนี้ว่าอย่างไร  มาร์กาเรธ เวสเทเยอร์  คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านการแข่งขัน กล่าวระหว่างการแถลงว่า

“ชาติสมาชิกอียูไม่สามารถมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นพิเศษอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในยุโรปหรือบริษัทต่างชาติ บริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็ก ...ซึ่งข้อตกลงระหว่างไอร์แลนด์และแอปเปิ้ล ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์”

ทีนี้เรามาจะมาแจกแจงให้ดูกันว่า การดำเนินธุรกิจของแอปเปิ้ล และการเก็บภาษีของไอร์แลนด์นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วสุดท้ายทำไมแอปเปิ้ลถึงได้เสียภาษีน้อยมาก แล้วมีความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ชอบมาพากล ตามที่อียูตั้งธงจริงหรือไม่

 

 “ข้อตกลงลูกรัก” เปิดทางแอปเปิ้ลเสียภาษีต่ำ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าวิธีการที่แอปเปิ้ลเสียภาษีต่ำจนอียูต้องมาแทรกแซงนั้น จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่รัฐบาลไอร์แลนด์เองยินยอมพร้อมใจให้ทำ โดยกระบวนการเริ่มต้นจากแอปเปิ้ล อิงค์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ มาตั้งสาขาในไอร์แลนด์ 2 สาขา ใช้ชื่อว่า Apple Sales International และ Apple Operations Europe ซึ่งสองบริษัทนี้ควบคุมการจัดจำหน่ายในยุโรป และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดของแอปเปิ้ลในหลายทวีปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่า รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ใดๆ ของแอปเปิ้ลในประเทศเหล่านี้ จะถูกนำเงินส่วนหนึ่งส่งไปให้กับสาขาในไอร์แลนด์ สมมติว่าขายไอโฟนในประเทศไทย สาขาในประเทศไทยก็จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสาขาในไอร์แลนด์ อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแอปเปิ้ลพยายามรวมรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ให้มาอยู่ที่ไอร์แลนด์ นั่นก็เป็นเพราะที่นี่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำมาก คือ 12.5% ถือว่าต่ำที่สุดในยุโรปตะวันตก เพราะรัฐบาลไอร์แลนด์ต้องการดึงดูดบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ไปลงทุน และนำมาซึ่งการจ้างงานในประเทศ

ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้ ยังไม่ได้ทำอะไรผิด จริงๆ แล้วบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทก็ทำกันไม่ใช่แค่แอปเปิ้ล แต่หลังจากตรงนี้ไปต่างหากคือสิ่งที่ EC บอกว่าทำไม่ถูก

ประเด็นคือ แอปเปิ้ลไม่ได้เสียภาษี 12.5% เหมือนอย่างบริษัทอื่นๆ แต่มีการทำข้อตกลงกันระหว่างแอปเปิ้ลและไอร์แลนด์ ซึ่งเรียกกันว่า Sweetheart Deal หรือ “ข้อตกลงลูกรัก” ทำให้แอปเปิ้ลได้อัตราภาษีพิเศษ ตั้งแต่ 0.005% -1% ระหว่างปีภาษี 2003 ถึง 2014

EC ยกตัวอย่างรายได้ในปี 2011 สาขาในไอร์แลนด์มีกำไร 16,000 ล้านยูโร แต่ส่วนที่นำมาคิดคำนวณภาษีนิติบุคคลเพียงแค่ 50 ล้านยูโรเท่านั้น อีก 15,950 ล้านยูโรไม่นำมาคิด เมื่อนำมาคำนวณด้วยอัตราภาษี 0.05% ผลก็คือภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ที่น้อยกว่า 10 ล้านยูโร.....กำไรหมื่นล้าน แต่จ่ายแค่ 10 ล้าน แค่ฟังก็พอมองออกแล้วว่าคงต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล และนี่ไม่ใช่ปีที่แอปเปิ้ลเสียภาษีน้อยที่สุดด้วย เพราะหลังจากนั้นในปี 2014 ไอร์แลนด์ยังลดภาษีลงมาอีก 10 เท่า เหลือเพียง 0.005%

ยังไม่จบเพียงเท่านั้น มีเรื่องไม่ชอบมาพากลอีกอย่าง คือ กำไรส่วนใหญ่จาก 2 สาขาในไอร์แลนด์ถูกส่งไปยัง “สำนักงานใหญ่” ที่ไม่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไหนเลยบนโลกใบนี้ หมายความว่ากำไรส่วนนี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศใด  “สำนักงานใหญ่” ที่ว่านี้ ไม่มีพนักงานแม้แต่คนเดียว ไม่มีหน้าร้าน มีตัวตนอยู่เพียงแค่ในกระดาษ....สิ่งเดียวที่แสดงถึงความมีอยู่ก็คือ การประชุมบอร์ดเป็นครั้งคราว.....

ทั้งหมดนี้ EC ให้ความเห็นว่าการบริหารจัดการภาษีของ 2 สาขาแอปเปิ้ลในไอร์แลนด์ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ และมีมติให้แอปเปิลคืนเงินให้กับรัฐบาลไอร์แลนด์

ทีนี้มาดูตัวเงินกันบ้างว่าภาษีย้อนหลังรวมดอกเบี้ย 13,000 ล้านยูโร ที่ EC ตัดสินให้แอปเปิ้ลจ่ายคืนรัฐบาลไอร์แลนด์ มากแค่ไหน ตีค่าเป็นอะไรได้บ้าง

 

เบื้องหลังไอร์แลนด์บอกปัดภาษีย้อนหลังแอปเปิ้ล

เป็นประเทศอื่น มีเงินภาษีมากองอยู่ตรงหน้าให้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เชื่อว่าก็ต้องรีบคว้าไว้ก่อน เพราะเงินจำนวนไม่ใช่น้อยๆ นี้ สามารถเอาไปใช้จ่ายหนี้ หรือสนับสนุนโครงการและสวัสดิการต่างๆ ได้ตั้งมากมาย  แต่ประเทศไอร์แลนด์กลับปฏิเสธที่จะรับเงินก้อนนี้ และยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป เพราะเล็งเห็นถึงผลเสียในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่คิดๆ แล้วน่าจะเป็นมูลค่ามากกว่าเงินภาษีย้อนหลังดังกล่าวมาก พูดง่ายๆ คือไม่อยากทุบหม้อข้าวตัวเองนั่นเอง

นั่นเป็นเพราะว่า รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องการจะรักษาสถานะตัวเองในฐานะประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป  ซึ่งเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศ อันจะส่งผลให้มีการจ้างงานมากขึ้น ขณะที่รัฐเองก็มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มด้วย

แม้ในตอนที่ไอร์แลนด์เองเผชิญวิกฤตหนี้เมื่อปี 2010 จากปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้เสียในภาคการเงิน  รัฐบาลเองก็ยังกัดฟันไม่ยอมแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ที่เป็นจุดขายของประเทศ

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่สหภาพยุโรป มองว่าสวนทางกับหลักการของความเป็นตลาดร่วมที่ต้องการส่งเสริมการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม  โดยชาติสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องไม่สนับสนุนหรือให้สิทธิประโยชน์บริษัทภายในประเทศ ในลักษณะที่ทำให้เกิดความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทในประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ให้

ซึ่งนางมาร์กาเรธ เวสเทเยอร์ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านการแข่งขัน ได้กล่าวว่า “เราต้องการส่งข้อความถึงผู้เสียภาษีในยุโรปว่า ยุโรปเป็นที่ที่น่าลงทุนและดำเนินธุรกิจ แต่คุณก็เองก็ต้องเคารพกฎระเบียบ”

แต่กฎระเบียบที่ว่านี้ หลายฝ่ายกลับมองว่าจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายของอียูมากเกินไปหรือเปล่า อย่างที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังจะทำตัวเป็นองค์กรภาษีที่มีอำนาจเหนือรัฐเข้าไปทุกที  และความพยายามที่จะปราบปรามการเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวดนี้ อาจจะไปคุกคามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีที่ประเทศต่างๆ มีต่อคู่เจรจาได้

ขณะที่บางส่วนก็มองว่า การเข้ามายุ่มย่ามมากเกินไปของสหภาพยุโรปนี้ จะสร้างแรงกดดันให้ชาติสมาชิกตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปหรือเปล่า  หรือท้ายที่สุดหากคำตัดสินของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปไม่มีศักดิ์สิทธิ์  ไอร์แลนด์สามารถกำหนดนโยบายภาษีของตัวเอง หรือมีข้อตกลงลับๆ ได้  ชาติสมาชิกอียูอื่นๆ ก็อาจจะอยากเรียกร้องเอาอย่างบ้าง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายเข้าไปอีก

เรียกได้ว่าเรื่องนี้ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินภาษี 5 แสนล้านบาท ที่แอปเปิ้ลต้องเสียย้อนหลังให้ไอร์แลนด์แล้ว เพราะสะเทือนไปถึงการดำเนินนโยบายและกำกับดูแลของสหภาพยุโรปในอนาคต 

 

AFP Photo / JOHN THYS / AFP

AFP Photo / PHILIPPE HUGUEN

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ