“แพ้อาหาร” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อันตรายถึงชีวิต !!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายวันมานี้ เชื่อว่าหลายคนคงหุ้นหูกับคำว่า “แพ้อาหาร” และ “เต้าหู้ไข่” หลังเกิดเหตุการณ์ เด็กนักเรียนชั้น ป.6 มีอาการป่วย ก่อนจะถูกพาไปหาหมอ ก่อนหมอวินิจฉัยว่าแพ้อาหาร แต่ครูไม่เชื่อว่ามาจากอาหารกลางวันคือ “แกงจืดเต้าหู้ไข่” จึงให้เด็กกินเต้าหู้ไข่พิสูจน์ พร้อมเฝ้าดูอาการ แต่ปรากฎว่า เด็กไม่มีอาการใดๆ จึงให้เด็กมากราบขอโทษที่หน้าเสาธง ที่ทำให้เกิดความเสียหาย เรื่องนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง จนหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “แพ้อาหาร” อันตรายกว่าที่คิด

หลังจากมีกระแสเรื่องการแพ้อาหาร ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่าง รศ.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บอกว่า อาการจาก “โรคแพ้อาหาร" เกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกาย เช่น มีผื่นคันตามตัว หรือมีลมพิษเป็นๆ หายๆ ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด ผู้ป่วยบางคนอาจมาด้วยอาการหลายระบบร่วมกัน เช่น ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก อาเจียน หายใจหอบ กรณีที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
 

รู้ได้อย่างไรว่าแพ้อาหารอะไรบ้าง ?

ควรสังเกตว่าถ้ามีอาการเกิดขึ้นบ่อยหลังได้รับอาหารชนิดเดิม ให้สงสัยว่าแพ้อาหารชนิดนั้น ถ้าไม่แน่ใจก็ต้องให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อมาตรวจเพิ่มเติมต่อไป   สำหรับคนที่มีอาการแพ้อาหารนั้น ในรายที่เป็นหนักสามารถทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกัน สำหรับการแพ้อาหารมีอยู่ 2 แบบคือ แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง

 

 


“แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน” จะมีอาการหลังจากได้รับประทานอาหารที่มีอาการแพ้ ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็จะเกิดอาการ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ท้องเสีย มีอาการบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีอาการช็อค สำหรับกรณีนี้ ควรจะต้องพบแพทย์ทันที เพราะถ้าหากมีอาการทางผิวหนัง และทางระบบทางเดินหายใจ อาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีกรณีของการเสียชีวิตจากการแพ้อาหารแบบรุนแรง และกรณีเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุจากการแพ้อาหาร ที่บางครั้งปนเปื้อนอยู่ในภาชนะ และหาสาเหตุไม่ได้ ก็ทำให้คนไข้เสียชีวิตโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ 

 

 


“แพ้อาหารแบบเรื้อรัง” แบบนี้จะมีอาการเกิดขึ้นหลังจากทานอาหารชนิดนั้นๆ ไปแล้วหลายสัปดาห์ จะมีอาการท้องเสีย มีผื่นคัน แบบนี้จะหาสาเหตุยาก ต้องมาพบแพทย์และตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งแบบนี้มักจะไม่รุนแรงเท่าชนิดเฉียบพลัน

 


สำหรับ กรณีการแพ้เต้าหู้ไข่ ที่อย่างที่ปรากฎเป็นข่าวและเป็นกระแสในสังคมนั้น พญ.อรพรรณ โพชนุกูล บอกว่า อาการแพ้อาหารนั้น เป็นอาการที่คาดเดาไม่ได้ ถ้าในกรณีที่เด็กมีประวัติแพ้ นม ไข่ หรือนมถั่วเหลือง ก็จำเป็นต้องเลี่ยง หรือต้องตรวจสอบให้ดี ก่อนจะให้กิน เมื่อมีประวัติการแพ้นั้นก็ไม่ควรให้กิน ถ้าไม่จำเป็น หรือหากจะอยากทราบจริงควรจะมาตรวจ เพราะจะมีวิธีการทดสอบ โดยการทดสอบนั้นจะเป็นการทดสอบว่าแพ้หรือไม่แพ้ โดยที่อยู่ในความดูแลของแพทย์ หากเกิดอาการแพ้ก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพื่อความปลอดภัย ไม่แนะนำให้ทดสอบเอง เพราะเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต


รศ.พญ.อรพรรณ ยังฝากเตือนว่า ให้หมั่นสังเกตตัวเอง ว่าแพ้อาหารชนิดไหน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง หรือควรมาพบแพทย์เพราะปัจจุบันมีวิธีการทดสอบว่าแพ้อาหารชนิดไหน และมีวิธีที่สามารถกลับมารับประทานอาหารชนิดนั้นได้อีก และหากมีอาการให้พบแพทย์ทันที

 


ขณะที่ในโลกออนไลน์ได้มีการตื่นตัว เพื่อให้หลายฝ่ายตระหนักถึง “โรคแพ้อาหาร” มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเว็บไซต์ Change.org ที่มีการรณรงค์ “เรียกร้องให้คุรุสภาตั้งคณะกรรมการสอบ อาจารย์ให้นักเรียนกราบขอขมากรณีแพ้เต้าหู้ไข่” ที่หลังจากมีการตั้งแคมเปญก็มีคนร่วมลงชื่อถึงกว่า 15,000 รายแล้ว พร้อมกับยืนยันว่า เรื่องการแพ้อาหารนั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรง


พร้อมข้อความที่อธิบายแคมเปญนี้ว่า “แพ้อาหาร อันตรายถึงชีวิต อย่าเอาชีวิตเด็กมาทดลองตามอารมณ์ ควรให้ครูทำความเข้าใจเรื่องอาการแพ้อาหารว่ามีความอันตราย ทำให้หมดสติ หรือถึงแก่ชีวิตได้”

 



ขณะที่ “หมอมินบานเย็น” ในแฟนเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ได้โพสต์ในเรื่อง ##ระหว่างความเห็นอกเห็นใจ_กับชื่อเสียงโรงเรียนและเต้าหู้ไข่ชิ้นนั้น แสดงความเป็นห่วง ถึงเรื่องการตำหนิเด็กต่อหน้าคนอื่น ที่ผู้ใหญ่หลายคนนั้นมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ใหญ่ควรใช้ความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะการถูกตำหนิต่อหน้าคนอื่น และการตำหนินั้นมีลักษณะที่รุนแรง ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลต่อร่างกาย แต่ก็มีผลทางจิตใจ

“ถ้าเขาทำผิด ทำโทษเขาได้ แต่ขอให้รับฟังเขาสักหน่อย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงทางกายและใจ ควรทำโทษโดยที่ไม่ทำลายศักดิ์ศรีและความเป็นตัวตนของเขา เด็กที่ถูกทำโทษด้วยวิธีตีตรา ประจาน หรือข่มขู่อยู่บ่อยๆ เด็กคนนั้นก็จะเติบโตมาด้วยความกลัว ไม่มั่นคงทางจิตใจ นอกจากจะส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ดีแล้ว เด็กอาจจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ขึ้นๆลงๆ โกรธง่าย เสียใจ หวั่นไหว และ เปราะบางกับสิ่งที่เข้ามากระทบ มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางจิตใจได้ง่าย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาจจะกลายเป็นคนที่อารมณ์รุนแรงก้าวร้าว และไปทำร้ายจิตใจคนอื่นๆต่อไป”  ข้อความบางส่วนจากเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา
 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ