ปล่อยน้ำเพิ่ม เร่งผลักลงทะเล แก้มลิงใช้รับมวลน้ำก้อนใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้จะมีคำยืนยันจากกรมชลประทานว่าสถานการณ์มาถึงวันนี้ ยังห่างไกลจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ยุทธวิธีที่กรมชลประทานใช้ คือ การปล่อยน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำที่เอ่อล้นพื้นที่ริมน้ำปัจจุบันออกไปก่อน เพื่อผลักดันลงสู่ทะเล ก่อนที่เขื่อนจะไม่สามารถรับน้ำได้ โดยเฉพาะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งวันนี้เหลือพื้นที่รับน้ำเพียง 19 %

ในประกาศของกรมชลประทาน ระบุว่า ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นจุดที่ต้องเพิ่มการปล่อยน้ำ จาก 20.75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เกือบ 1 เท่า) หรือ 240 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ตัวเลขการกักเก็บน้ำจะเห็นชัด วันที่ 28 กันยายน เขื่อนป่าสัก มีปริมาตรน้ำในเขื่อน คิดเป็น 81% เหลือรับได้อีกเพียง 179 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน พบว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วง 1 สัปดาห์กว่าๆนี้ จะมีปริมาตรน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักถึง 600 ล้านลูกบาศก์เมตร แปลว่า น้ำจะล้นเขื่อนในวันที่ 8 ตุลาคม หากยังคงการระบายน้ำในอัตราเท่าเดิม และถ้าน้ำล้นเขื่อน ก็จะไม่สามารถควบคุมน้ำได้

นายชูพงศ์ อิศรัตน์ หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ อธิบายว่า เขื่อนเพิ่มการระบายน้ำจะทยอยระบายวันนี้และวันพรุ่งนี้  โดยปรับเพิ่มการระบายทุก 3 ชั่วโมง จนครบ 460 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในคืนวันที่ 29 กันยายน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ด้านล่าง คาดว่าการพร่องน้ำครั้งนี้ จะสามารถรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาใหม่ได้เต็มความจุพอดี และมวลน้ำทั้งหมดจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ด้านท้ายจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มในพื้นที่ด้านล่าง

ส่วนพื้นที่ฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพิ่มการปล่อยน้ำจาก 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะลงมากระทบพื้นที่ทางฝั่งซ้ายตามแผนที่นี้ คือฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นชุมชนริมน้ำ ซึ่งน้ำท่วมอยู่แล้ว ที่สิงห์บุรี อ่างทอง ที่ตำบลโผงเผง อยุธยา ที่ อ.บางบาล อ.เสนา จุดนี้ เป็นจุดที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่รอบๆ มีพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิงที่เตรียมไว้ แต่ไม่ระบายน้ำลงไป กรมชลประทานอธิบายว่า ยุทธวิธีหลัก คือต้องการเร่งผลักดันน้ำก่อนนี้ ให้ลงไปสู่ทะเลก่อน เพื่อพร่องน้ำออก ก่อนที่จะมีมวลน้ำก้อนใหม่มาเติมจากร่องมรสุม

พื้นที่แก้มลิงที่เตรียมไว้ จากแผนที่จะเห็นว่า อยุธยา มีแก้มลิงทั้งหมด 4 แห่ง คือ

ทุ่งป่าโมกข์ 3 หมื่นไร่ รับน้ำได้ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร (นา ตกค้าง 1,200 ไร่)

ทุ่งผักไห่ 133,000 ไร่ รับน้ำได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (นา ตกค้าง 1,200 ไร่)

2 พื้นที่นี้ จะปล่อยน้ำจากแม่น้ำน้อยเข้ามา 1 ตุลาคมนี้

พื้นที่ ที่ 3 คือ บางบาล 27,250 ไร่ รับน้ำได้ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร

สุดท้าย คือ ทุ่งเจ้าเจ็ด 4 แสนไร่ รับน้ำได้มากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร

ชลประทาน พระนครศรีอยุธยา บอกว่า สาเหตที่ยังไม่สามารถปล่อยน้ำไปลงทุ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตของประชาชน และที่สำคัญคือต้องการส่งมวลน้ำก้อนที่ท่วมอยู่ปัจจุบัน และที่ปล่อยจากเขื่อนมาเพิ่ม ให้ตรงลงสู่ทะเลไปก่อน เพื่อเตรียมรับมวลน้ำก้อนใหม่ จากร่องมรสุมที่กำลังมา

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศล่วงหน้า ว่า หลังจากนี้ 1 – 2 วัน ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคกลางยังคงมีฝนตกโดยทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 1–4 ตุลาคมนี้ หรือในช่วงสัปดาห์หน้า ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ด้วย

แม้กรมชลประทาน จะยืนยันว่า การบริหารน้ำเช่นนี้ จะมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเท่านั้น แต่ปริมาณน้ำฝน หากเพิ่มเข้ามาอีก จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ