เปิดขั้นตอน “บ้านพักทหารตั้งบริษัท” บอกอะไรได้บ้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ลูกชายของพลเอกปรีชา จันทร์โอชา จะไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เนื่องจากพ่อเป็นนายทหารระดับสูงและอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 หน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทของตัวเอง อย่างน้อย 7 โครงการ หนึ่งในคำถามใหญ่ที่กำลังกลายเป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ คือ พลเอกปรีชา จะรับทราบหรือมีประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทลูกชายหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อปรากฎข้อมูลว่ามีการนำบ้านพักในค่ายเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก ที่พลเอกปรีชาได้รับสิทธิ์ ไปจดทะเบียนเป็นที่ตั้งบริษัท ทีมข่าวพีพีทีวีพยายามตรวจสอบระเบียบการบริหารจัดการบ้านพักของทหาร แหล่งข่าวในกองทัพที่เคยได้รับสิทธิ์อยู่อาศัย เปิดเผยว่า บ้านพักทุกหลังจะมีเลขที่บ้านตามทะเบียนราษฎร์ และผู้ที่เป็นเจ้าบ้านก็คือ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ หากเป็นไปตามนี้ นั่นหมายความว่า บ้านพักทหารที่ลูกชายพลเอกปรีชา นำไปจดทะเบียนเป็นที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น  “พลเอกปรีชา จันทร์โอชา”  จะต้องมีสถานะเป็นเจ้าบ้าน

เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพิสูจน์ว่า พลเอกปรีชา รับรู้ว่า ลูกชายของตัวเองนำบ้านทหารที่ได้รับสิทธิ์ไปเป็นที่ตั้งบริษัททำธุรกิจหรือไม่ ตามที่เคยเอ่ยปฏิเสธก่อนหน้านี้ ทีมข่าวพีพีทีวี จึงสอบถามไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการเดินทางไปสอบถามและผ่านสายด่วน 1570 ว่า หากจะจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน จะต้องใช้หลักฐานใดบ้าง และหากผู้ยื่นขอไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของที่ตั้ง จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านตามทะเบียนราษฎร์หรือไม่

ข้อมูลที่ได้รับพบว่า หลักฐานที่ใช้ยื่นขอจัดตั้ง แม้จะไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน แต่จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และแผนที่โดยสังเขป ข้อมูลส่วนนี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันว่า หากไม่ได้มีสถานะเป็นผู้เช่า ไม่จำเป็นจะต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าบ้าน เพราะสาระสำคัญที่กรมพัฒนาธุรกิจจะตรวจสอบ คือ ที่อยู่ที่ใช้มีอยู่จริงหรือไม่เท่านั้น และตามระเบียบก็ไม่มีข้อห้ามรับที่อยู่ที่เป็นบ้านพักข้าราชการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

สอดคล้องกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่วันนี้ออกมาขยายความตอบโต้กระแสที่ถูกกล่าวหาว่า ปกป้องคนใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่ หลังให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ว่า การนำบ้านพักทหารไปจดทะเบียนตั้งบริษัทไม่ขัดต่อกฎหมาย นายวิษณุระบุว่า กฎหมายที่ว่านั้น คือ ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่มีข้อห้าม ไม่ได้หมายความถึง ระเบียบของสำนักงานปลัดกลาโหมที่ห้ามไว้ชัดเจน หลังจากนี้เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหมที่ต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดทางวินัยหรือไม่

เช่นเดียวกับพลเอกสาธิต พิธรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่รับตำแหน่งต่อจากพลเอกปรีชา ระหว่างปี 2557 – 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทลูกพลเอกปรีชา ได้รับงานจากกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 5 โครงการ ที่วันนี้เดินทางไปร่วมกับอำลาชีวิตทหารชั้นนายพลด้วย พลเอกสาธิต อ้างว่า ไม่ได้มีการฮั้วประมูล และเอื้อประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด นอกจากบอกว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. หากต้องการเรียกสอบ

หากเป็นไปตามนี้ เท่ากับว่า การตรวจสอบความผิดปกติระหว่างกองทัพภาคที่ 3 กับบริษัทลูกพลเอกปรีชา จะเดินคู่ขนานไป 2 ทาง ทางหนึ่ง คือ ความผิดทางวินัยของกระทรวงกลาโหม และ อีกทางหนึ่ง คือ ความผิดตามมาตรา 100 ที่ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบว่า พฤติกรรมของพลเอกปรีชา จันทร์โอชา เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บริษัทลูกชายหรือไม่ แต่หลังจากนี้จะมีจุดเปลี่ยนที่ต้องจับตา คือ ว่า หากพลเอกปรีชา เกษียณอายุแล้วในสิ้นเดือนนี้ กระบวนการตรวจสอบจะเดินหน้าไปตามขั้นตอนอย่างไร

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ