คพ. ตั้งสมมติฐาน "กากส่า" จากโรงงานเอทานอล ราชบุรี ต้นเหตุกระเบนราหูแม่กลอง ตาย 50 ตัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมควบคุมมลพิษ แถลงผลพิสูจน์การตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง ตั้งสมมติฐาน เกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า จาก "โรงงานราชบุรี เอทานอล" สำหรับ ค่าที่ตรวจพบเกินกว่าความปลอดภัยของสัตว์น้ำประมาณ 18 เท่า ส่งผลให้ปลาตายเฉียบพลัน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวน

 

วันนี้ ( 21 ต.ค. 59 ) นายวิจารย์  สิมาฉายา  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเฉพาะซากปลากระเบนราหูที่เป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นตายเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. 59 ในเขต อ.บางคนที และอ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้วิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งทำการทดลองเพื่อทดสอบระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียในน้ำว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการตายของปลากระเบนราหูหรือไม่ เพื่อเชื่อมโยงการปนเปื้อนของน้ำกากส่าที่มีการระบายทิ้งจากโรงงานเอทานอลราชบุรีที่ภาคประชาชนในพื้นที่ยังกังขา ซึ่งจากผลคุณภาพน้ำทำให้สันนิษฐานได้ว่า น้ำกากส่าที่รั่วยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลอง


   

จากที่ทราบกันว่า บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ได้มีหนังสือชี้แจงถึงประธานกรรมการกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองกรณีน้ำกากส่าในบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 เวลา 08.50 น. โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์ผลพบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ(DO) ในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ต.ค. 59 ประมาณ 1.0-2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าออกซิเจนละลายน้ำดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) และพบว่าค่าบีโอดี(BOD)ในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่เขตจังหวัดสุมทรสงคราม (บริเวณตั้งแต่ อ.บางคนทีลงมาจนถึงปากแม่น้ำ)เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 59 มีค่าสูงระหว่าง 11-28 มิลลิกรัมต่อลิตร

 

ดังนั้น จากผลคุณภาพน้ำดังกล่าวจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่ากากส่าที่รั่วจาก บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลองช่วงเขตจังหวัดสุมทรสงคราม อย่างน้อยจนถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2559 โดยมีข้อมูลประกอบการสันนิษฐานเพิ่มเติมคือ ข้อมูลการเดินทางของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก พบว่า เวลาเดินทางของมวลน้ำจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มายัง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ เมื่อเจอกันอิทธิพลน้ำขึ้นในวันดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่ามวลน้ำดังกล่าวไม่สามารถระบายออกสู่ทะเล ทำให้น้ำกากส่าบางส่วนจะตกลงสู่ท้องน้ำ เนื่องจากน้ำกากส่ามีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ ประกอบกับความเห็น รศ.สพญ.ดร.นันทริกา  ชันชื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า ปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไต และระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป

         

กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองว่าเกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ เนื่องจากปลาไม่สามารถขับแอมโมเนียออกจากร่างกายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ และกรมควบคุมมลพิษได้ทำการทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าวด้วยการจำลองสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเติมน้ำกากส่าในอัตราส่วน 1:130 แล้วทำการวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที ซึ่งผลการทดลองพบว่า ค่าแอมโมเนียอิสระ มีค่าเริ่มต้น 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 46 ชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18 เท่า ที่มีผลทำให้ปลาตายเฉียบพลัน สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตากฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย ผลตรวจสอดคล้องกับที่พบสารไซยาไนด์ ในซากปลากระเบน เพราะมาจากแอมโมเนียอิสระ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ