นักพฤกษศาสตร์ สำรวจพบ 8 พืชพันธุ์ชนิดใหม่ของโลกในไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำนักหอพันธุ์ไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจพบพืชพันธุ์ชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด ในประเทศไทย

นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักหอพันธุ์ไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยได้สำรวจพบ 8 พืชพันธุ์ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย ดังนี้

1. ช้องเจ้าฟ้า ชื่อพฤกษศาสตร์ Buxus sirindhorniana W. K. Soh , von Sternb., Hodk. & J. Parn. วงศ์ Buxaceae พบได้ตามเขาหินปูนตั้งแต่บริเวณติดชายแดนเมียนมาร์ ใน จังหวัดกาญจนบุรี ถึงดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมาแม้ว่าช้องเจ้าฟ้าจะถูกเก็บตัวอย่างมานาน แต่ไม่มีการเขียนตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ เพราะนักพฤกษศาสตร์ไม่แน่ใจว่าจะจัดอยู่สกุลใด เพราะโดยปกติสกุลช้อง (Buxus) รังไข่จะมี 3 ช่อง แต่ช้องเจ้าฟ้ารังไข่มีแค่ 2 ช่อง เมื่อมีการศึกษาทางชีวโมเลกุล ผลปรากฏว่าช้องเจ้าฟ้าถูกจัดอยู่ในสกุลช้อง (Buxus) จึงได้มีการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ออกมา โดยในฐานข้อมูลชื่อพืชทั่วโลก http://www.ipni.org ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ใช้อ้างอิงทั่วโลก ได้ระบุกำกับชื่อพืชไว้ว่า “Named for Princess Maha Chakri Sirindhorn of Thailand” ซึ่งเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกเช่นกันที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2557 พบเฉพาะที่อุ้มผาง ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี

 

 

2. ยมหินปูน ชื่อพฤกษศาสตร์ Toona calcicola Rueangr., Tagane & Suddee วงศ์ Meliaceae ไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามซอกหินปูนที่บริเวณสวนสวรรค์ วนอุทยานสวนหินผางาม อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 79-86 ปี 2015 ยมหินปูนมีลักษณะเด่นตรงที่เกสรเพศผู้ ไม่เชื่อมติดกันเป็นหลอดเหมือนพืชวงศ์เลี่ยน (Meliaceae) สกุลอื่นๆ ผลลักษณะคล้ายยมหินแต่ใบแตกต่างกันมาก เมื่อใบร่วงมีรอยแผลใบบนกิ่งชัดเจน คำระบุชนิด “calcicola” หมายถึงหินปูนซึ่งเป็นแหล่งที่พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ ตัวอย่างต้นแบบ Tagane et al. T3673 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

 

3. ชะนูดต้นแก่งกระจาน ชื่อพฤกษศาสตร์ Prunus kaengkrachanensis Nagam., Tagane & Suddee วงศ์ Rosaceae ไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขาบริเวณพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 43-45 ปี  2015 มีลักษณะเด่นที่ผนังผลชั้นในมีขนหนาแน่น ลำต้นสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ใบเดี่ยว เรียงเวียน ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก จำนวนมาก ผลเกือบกลม สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8-2 ซม. ผนังผลชั้นในมีขนหนาแน่น เมล็ดแบน มี 1 เมล็ด มีขนประปราย ผลโตเต็มที่ประมาณเดือนพฤกษภาคม

 

 

4. หญ้าคางเลือยตะนาวศรี ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria tenasserimensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae ไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามเขาหินปูนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ในไทยและเมียนมาร์ ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 2 ปี 2016 ในไทยพบหญ้าคางเลือยตะนาวศรี ได้ที่บริเวณอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ลำต้นทอดเลื้อยสูงได้ถึง 1 เมตร ลำต้นมีขน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนรูปหัวใจหรือรูปลิ่มกว้าง ขอบจักฟันเลื่อย ผิวใบมีขนทั้ง 2 ด้าน ก้านใบสั้น ยาว 3-6 มม. ช่อดอกออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงยาว 2-3 มม. มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดโค้ง สีม่วง ยาวได้ถึง 2 ซม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์

 

 

5. หญ้าคางเลือยเขาใหญ่ ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria khaoyaiensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae ไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขา โดยเฉพาะบริเวณเขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 5 ปี 2016 ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มักพบขึ้นตามที่ชื้นบนก้อนหินตามลำธาร ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกออกตรงข้ามกัน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มม. มีขนต่อม กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดโค้ง สีน้ำเงินเข้ม กลีบล่างมีแต้มสีขาวตรงกลาง ยาวได้ถึง 1.2 ซม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์

 

 

6. ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia mekongensis S. W. Gale, Schuit. & Suddee วงศ์ Orchidaceae พบตามป่าผลัดใบ พบในไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลาวตอนเหนือ ในเวียดนามตอนเหนือและตอนใต้ และทางด้านตะวันออกของกัมพูชา ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 247(4) หน้า 267-273 ปี 2016 รูปร่างและขนาดของใบใกล้เคียงกับแผ่นดินเย็นหรือว่านพระฉิม (Nervilia aragoana Gaudich.) แต่ใบไม่มีแถบหรือแต้มสีม่วงเหมือนชนิดหลัง ลักษณะและรายละเอียดของกลีบปากก็แตกต่างกัน ออกมา ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นกล้วยไม้ที่พบมานานแต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาอย่างจริงจัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายสถาบันช่วยกันศึกษาและตีพิมพ์

 

 

7. ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia trangensis S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae พบในป่าดิบชื้นที่ที่สวนพฤกษศาสาตร์ทุ่งค่าย และสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จังหวัดตรัง ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์ พบครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย นายประสงค์ โพธิ์เอี่ยม ได้ส่งภาพถ่ายมาให้หอพรรณไม้ตรวจสอบ กล้วยไม้ดินออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ ใบชูขึ้นสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย สีเขียวอ่อนถึงเข้ม เป็นมัน รูปหลายเหลี่ยมเกือบกลม เป็นร่องตามเส้นใบตามยาว ปลายแหลม ขอบเรียบ โคนเว้าลึกรูปหัวใจ ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน

 

 

8. ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia marmorata S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae พบตามเขาหินปูนในแถบจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ ใบชูขึ้นสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย สีเขียวอ่อนมีลายคล้ายหินอ่อน รูปหลายเหลี่ยมเกือบกลม เป็นร่องตื้น ๆ ตามเส้นใบตามยาว เห็นไม่ชัดเจน ปลายแหลมหรือมน ขอบเรียบ โคนเว้าลึกรูปหัวใจ

 

 

นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักหอพันธุ์ไม้ ระบุว่า จริงๆ แล้วพืชพันธุ์หลายชนิดมีอยู่นานแล้วหลายพันปี แต่เพิ่งมีการสำรวจพบและศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทย ขาดแคลนนักพฤกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสำรวจ และเก็บสายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากขึ้นในอนาคต จากปัญหาสภาวะโลกร้อน ให้ทุกคนได้รับรู้ว่าโลกเคยมีพืชชนิดนี้ ไม่เช่นนั้นพืชพันธุ์หลายชนิดในโลก อาจสูญพันธุ์ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักก็เป็นได้

ทั้งนี้ นอกจากการสำรวจพบพืชจะสะท้อน ถึงความอุดมสมบูณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศแล้ว การเก็บข้อมูลยังสามารถนำไปต่อยอด เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของดิน สรรพคุณทางสมุนไพร และแมลงชนิดผู้ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ไม้ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วองค์ควารู้เหล่านี้ จะเชื่อมโยงและนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลก เพราะสรรสิ่งทุกอย่างต่างมีความเชื่อมโยงถึงกัน

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบจาก สำนักหอพันธุ์ไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ