คนไทยเป็นคนหวานๆ เพราะกินน้ำตาล 28 ช้อนชา/วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดผลสำรวจเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรก “แดงโซดา” ครองแชมป์ 15.5 ช้อนชา

ข้อมูลจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยเบาหวาน 415 ล้านคน ทุก 6 วินาทีจะผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน และ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558  พบว่าปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ล้วนมาจาก “พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต” ทำให้พบแนวโน้มผู้ป่วยโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย

ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เผยว่า โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ เห็นได้จากปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคต่อวัน ไม่ควรเกิน 4-8 ช้อนชาต่อวัน สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานระหว่าง 1,600-2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับ 4-7 เท่าตัว โดยข้อมูลที่คำนวณจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 28 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งแหล่งที่มาของการบริโภคน้ำตาลส่วนเกิน ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด

ผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการวิจัยบนถนนสายเศรษฐกิจ จากการสำรวจปริมาณน้ำตาลของร้านขายเครื่องดื่มบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ถนนราชวิถี รอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม เปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. จากตัวอย่างร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่าง ผลการสำรวจพบว่า เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2. โอวัลติน 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5. นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วน ชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และ โกโก้ มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา

ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากผลการสำรวจพบว่า เพียงบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. ชี้ว่า พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ซึ่งเป็นรากของปัญหา NCD ทั้งเบาหวาน ความดัน หากไม่ทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานเราจะได้คนในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ