เผยข้อมูลคนไทยเกือบร้อยละ 60 เข้าใจผิด "ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยขณะนี้คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปเข้าใจการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ถูกต้อง ผลสำรวจล่าสุดในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 พบว่าร้อยละ 59 เข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี พบสูงสุดในกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ชี้ผลเสียอาจทำให้รู้ตัวเมื่อสายเกินแก้

จากข้อมูลรายงานของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดในปี 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 187 ล้านกว่าครั้ง มากกว่าปี 2556 ประมาณ 5 ล้านครั้ง มีผู้ป่วยนอนพักรักษาในโรงพยาบาล 19 ล้านกว่าคน เพิ่มจากปี 2556 ประมาณ 2 ล้านคน     

 

นพ.ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)  พบว่า มีประชาชนบางส่วนยังเข้าใจการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ถูกต้อง โดยได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปครอบคลุม 4 ภาครวมทั้งในกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559  ใช้กลุ่มตัวอย่าง 512 คน เป็นชาย ร้อยละ 42 หญิง ร้อยละ 58  ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81 ให้ความคิดเห็นว่าการตรวจสุขภาพประจำปีมีผลดี ทำให้รู้ภาวะสุขภาพของตนเอง แต่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59  ที่เข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี อาชีพที่เข้าใจผิดมากที่สุด ได้แก่ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 68 รองลงมาคืออาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 66 และธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 63 โดยภาคใต้คิดเช่นนี้สูงที่สุดร้อยละ75 รองลงมาคือภาคกลาง และกรุงเทพฯ/ปริมณฑล ร้อยละ 60 เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีความเข้าใจผิดสูงอันดับ 1 ร้อยละ 61 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษาร้อยละ 60    

               

นพ.ประภาส กล่าวต่อไปว่า  การตรวจสุขภาพประจำปี มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมากกว่ามุ่งรักษา แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะปลอดจากโรคภัย เพียงช่วยให้ตรวจพบโรคหรือได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรก  รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารหวาน ไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุรี่  ส่วนคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ควรตรวจสุขภาพประจำปีเช่นกัน  เพื่อตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ค้นหาโรค  และความผิดปกติที่อาจแอบแฝงอยู่แต่ยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคสูง โรคตับ  หากพบจะสามารถปรับแก้พฤติกรรมได้  วิธีนี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย และอาการรุนแรงของโรคลงอย่างได้ผล ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนแล้วจึงค่อยมารักษา เพราะบางโรคเมื่อเป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาควบคุมอาการตลอดชีวิต เช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  

              

“หัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี อยู่ที่การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีจะครอบคลุม ทั้งการซักประวัติคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และให้คำแนะนำเพื่อปรับแก้พฤติกรรม กำจัดปัจจัยเสี่ยงป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต” รองอธิบดี กรม สบส. แนะนำ

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ