“ภาพพะยูนตาย” หรือนี่คือพะยูนตัวสุดท้ายอ่าวไทยฝั่งตะวันออก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Chainarong Kitinartintranee ได้โพสต์ภาพพะยูนตายพร้อมข้อความเกี่ยวกับการตายของพะยูนที่อ่าวไทย ว่า นี่อาจเป็นพะยูนตัวสุดท้ายอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

วันนี้ ( 1 ธ.ค.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Chainarong Kitinartintranee ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการตายของพะยูนที่อ่าวไทย ว่า ระหว่างที่สังคมกำลังเกรี้ยวกราดกับซากวาฬที่แหลมฉบังในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพะยูนตัวสุดท้ายก็จากอ่าวไทยฝั่งตะวันออกไปอย่างเงียบเชียบ ซากพะยูนที่พบในพื้นที่ระหว่างเกาะทะลุ และเกาะมันใน จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก หรือ ศวทอ. คาดว่า น่าจะเป็นพะยูนตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในฝั่งอ่าวไทยฟากตะวันออก เพราะจากการทำแบบสำรวจกับชาวบ้าน และลงพื้นที่ดูแนวหญ้าทะเล ข้อมูลที่ได้ตรงกันก็คือ มีพะยูน 1 คู่ อาศัยอยู่ตามแนวหญ้าทะเล จากอ่าวมะขามป้อม จ.ระยอง ไปจนถึง คุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ท่ามกลางกระแสการล่าพะยูน เอาเขี้ยวไปทำของขลัง เอาไขกระดูกไปทำยา เอาเนื้อไปกิน เมื่อปีก่อน มีข่าวลอดออกมาจากตลาดมืดว่า ได้ซากพะยูนตัวหนึ่งจากพื้นที่บริเวณนี้ เท่ากับว่า พะยูนที่ยืนยันข้อมูลแน่นอนได้ก็เหลือเพียง 1 ตัวเท่านั้น

จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน... พะยูนตัวนั้นก็หายหน้าจากอ่าวไทยไปตลอดกาล แต่ในวิกฤติก็ยังพอมองเห็นโอกาสอยู่ "ร่องรอย" ของหญ้าทะเลจะเป็นเบาะแสยืนยันการมีอยู่ของพะยูนที่เหลือ

"ก็ยังมีความหวังอยู่ครับ" ถึงจะไม่ค่อยแน่ใจ แต่ น.สพ.ภุมเมศ ชุ่มชาติ Poommate Chomchat กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศวทอ. ก็อยากให้เชื่ออย่างนั้น อีกไม่กี่วันต่อจากนี้ เราน่าจะได้รู้กัน และนี่จะเป็นอีกครั้งที่ธรรมชาติกำลังบอกคนใช้ทรัพยากรอย่างเราๆ ว่า "อย่าเอาแต่ล้างผลาญ" วันข้างหน้าจะไม่เหลืออะไรให้กิน

ปล. จากการชันสูตรซากสัตว์ทะเลเกยตื้นจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก หรือ ศวทอ. พบว่า เป็นพะยูน เพศผู้ ช่วงวัยรุ่น ขนาด 2.63 ม. มีรอยช้ำ และมีเลือดบริเวณลำตัว และส่วนหน้าของพะยูนซึ่งเกิดจากการกระแทกของวัตถุก่อนการตาย

นอกจากนี้ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์สืบนาคะเสถียร เรื่อง บทเรียน "พะยูนตัวสุดท้าย" แห่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ว่า ศวทอ. ตรวจสอบผ่าชันสูตรซากพะยูน หลังการพบซากพะยูนที่ จ.ระยอง และคาดว่าเจ้าพะยูนตัวนี้อาจเป็นพะยูนตัวสุดท้ายแห่งน่านน้ำทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก หากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าอีกครั้ง หลังเหตุการณ์พบซากวาฬบรูด้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพียงไม่กี่วันก่อน

โดยปรกติพะยูนจะอาศัยบริเวณแนวหญ้าทะเลในพื้นที่ร็อคการ์เด้นรีสอร์ท (อ่าวมะขามป้อม) อ.แกลง จ.ระยอง ไปจนถึงอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี จากการทำแบบสอบถามชาวบ้านพบพะยูน 2 ตัวที่อาศัยหากินตามหญ้าทะเลบริเวณนี้ ก่อนหน้านี้พะยูนตัวหนึ่งตายไปแต่ไม่สามารถพบซาก ซึ่งในวันนี้เองทาง ศวทอ. คาดว่าพะยูนตัวล่าสุดที่ตายนี้คือ "พะยูนตัวสุดท้ายในน่านน้ำอ่าวไทยฝั่งตะวันออก”

น.สพ. ภูมเมศ ชุ่มชาติ ได้ชี้แจงสาเหตุการตายของพะยูน จากการชันสูตรดังนี้ “จากการสังเกตลักษณะผิวหนังของพะยูนเบื้องต้นไม่พบความผิดปรกติ เนื่องจากชั้นผิวหนังของพะยูนมีความหนามากจึงต้องใช้เครื่องมือผ่าชันสูตรซากพะยูน พบว่ามีรอยช้ำรอบกล้ามเนื้อ รอยกระแทกส่วนหน้า รอยเลือดออกที่บริเวณไซนัส จึงสรุปสาเหตุการตายของพะยูนได้ว่าเกิดจากการกระแทกซึ่งเกิดขึ้นขณะที่พะยูนยังมีชีวิต เพราะกระบวนการอักเสบจะไม่เกิดขึ้นหลังการตาย”

ต่อสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก พวกมันถูกคุกคามอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้ง โลมา วาฬ และพะยูนเอง รวมไปถึงหญ้าทะเลที่เป็นพื้นที่สำคัญทั้งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยของสัตว์มากหน้าหลายตา แต่เมื่อสังคมมนุษย์เริ่มขยับขยายเข้ามามากขึ้น ทำให้สัตว์ได้รับผลกระทบจำนวนประชากรลดลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่สัตว์ทะเลพวกนี้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในแถบอ่าวไทย คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่อีกหน่อยเราจะไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้อีกแล้ว

ในทางกลับกันนั้นเอง การอนุรักษ์นั้นมีความเป็นไปได้ยาก การอนุรักษ์สัตว์เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยพลังมวลชนปลุกจิตสำนึกในการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เช่น การดูแลการประมง วินัยการจัดการการทิ้งขยะ ซึ่งหลายครั้งเราสามารถพบขยะได้ที่ปากทะเล รวมไปถึงการล่าพะยูน และสัตว์อื่นๆ ตามความเชื่อผิดๆ ว่า เขี้ยวพะยูน งาแดงของนกชนหิน งาช้าง และนอแรดเป็นเครื่องรางของขลัง ทั้งที่พวกมันเองไม่สามารถเอาตัวรอดจากน้ำมือมนุษย์ได้เลย

ตลอดช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ในบริเวณทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ประเทศไทยได้สูญเสียพะยูนไปแล้ว 391 ตัว และซากพะยูนตัวที่พบครั้งนี้มีรหัส DU-391 (รหัสการตาย) นายสัตวแพทย์ยืนยันแล้วว่าเขี้ยวและอวัยวะชิ้นส่วนอื่นของ พะยูนรหัส DU-391 ยังอยู่ครบถ้วน โดยได้จดบันทึกอย่างละเอียดไว้อย่างดีและเตรียมดำเนินการขั้นตอนจะจัดทำโครงกระดูกและนำไปไว้ยังพิพิธภัณฑ์ต่อไป

หากเราเริ่มอนุรักษ์กันตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงไม่ต้องมากังวลว่าพะยูนรหัส DU-391 จะเป็นพะยูนตัวสุดท้ายของน่านน้ำทะเลอ่าวไทยตะวันออกหรือไม่ แต่เรายังสามารถพบพะยูนได้ตามทะเลฝั่งอื่น เช่น อันดามัน เป็นต้น

 

 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Chainarong Kitinartintranee

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์สืบนาคะเสถียร

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ