สลด ! ตีทะเบียนรหัส DU-391 แก่ซาก “พะยูน” ที่ตายในน่านน้ำไทยลำดับ 391 ในรอบ 30 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ วอนทุกฝ่ายจริงจังอนุรักษ์ “พะยูน” ก่อนทะเลไทยไร้เจ้าหมูน้ำ ด้านสัตวแพทย์กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ตีทะเบียนรหัส DU-391 แก่ซาก “พะยูน” ตัวล่าสุดที่พบตายในน่านน้ำไทย ลำดับที่ 391 ในรอบ 30 ปี

กรณีการเผยแพร่ข้อมูลและภาพ ซาก “พะยูน” เพศผู้ช่วงวัยรุ่น ขนาด 2.63 เมตร มีรอยช้ำและเปื้อนเลือด บริเวณลำตัวและส่วนหน้าของพะยูน ซึ่งเกิดจากการกระแทกของวัตถุก่อนการตาย โดยมีการระบุว่าเป็นซาก #พะยูนตัวสุดท้ายของอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นการตายผิดธรรมชาตินั้น

นายสัตวแพทย์ภุมเมศ ชุ่มชาติ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า พบซากพะยูนตัวดังกล่าว ระหว่างเกาะทะลุและเกาะมันใน จ.ระยอง จึงได้ตีทะเบียนรหัส DU-391 ซึ่งหมายถึงพะยูนลำดับที่ 391 ที่ตายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ในบริเวณทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หมายความว่าประเทศไทยได้สูญเสียพะยูนไปแล้วถึง 391 ตัว

ก่อนหน้านี้เคยร่วมสำรวจพื้นที่ดูแนวหญ้าทะเลกับชาวบ้าน พบว่ามีพะยูน 1 คู่ อาศัยอยู่ตามแนวหญ้าทะเล จากอ่าวมะขามป้อม จ.ระยอง - คุ้งกระเบน จ.จันทบุรี แต่เมื่อปี 2558 มีข่าวพบซากพะยูน 1 ตัวในบริเวณดังกล่าว เท่ากับเหลือพะยูนอยู่อีก 1 ตัว จนมาพบว่ามันตายแล้ว ทั้งที่พะยูนตัวนี้ยังมีเขี้ยวสมบูรณ์ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับขบวนการล่าและค้าพะยูน

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ใจความสำคัญระบุว่า หลายคนถามว่าเป็นจริงหรือไม่ อยากบอกว่าพะยูนในอ่าวไทยลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ตัวสุดท้ายหรือเปล่า ? อาจมีพะยูนที่อพยพไปมาระหว่างเขมรกับทะเลตะวันออกอยู่บ้าง อาจเหลืออยู่ทางภาคใต้ตอนล่างแต่น้อยเต็มที จะสุดท้ายหรือไม่สุดท้าย ภาวะที่เกิดขึ้นนี้คงต้องบอกว่าวิกฤตอย่างยิ่งยวด”

รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า “พะยูน” เป็นสัตว์สงวน แต่ดูเหมือนว่าการเป็นสัตว์สงวนยังไม่เพียงพอ เพราะมีการตายแบบ #ผิดธรรมชาติ เกิดขึ้นตลอด การตายผิดธรรมชาติ หมายถึงเกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นตายทันที หรือทำให้พะยูนบาดเจ็บ จนเจ็บป่วย อ่อนแอ และตายภายหลัง

#แบบตั้งใจ คือการล่าโดยเจตนา ในอดีตมีการล่าพะยูนเพื่อเป็นอาหาร และล่าเพื่อนำอวัยวะไปเป็นเครื่องรางของขลัง หรือเอาไขมันไปทำยานวดแก้ปวดเมื่อยตามความเชื่อในท้องถิ่น ปัจจุบันการล่าเป็นอาหารน้อยลง แต่การล่าเอาเขี้ยวยังมีอยู่ ดังที่เห็นซากพะยูนถูกตัดเขี้ยวเป็นประจำ แม้บางทีอาจเป็นการตัดเขี้ยวหลังพะยูนตายด้วยสาเหตุอื่น แต่ใครเล่าจะไปทราบ กรณีนี้รวมพะยูนที่เพิ่งตายล่าสุด

#แบบไม่ตั้งใจ พะยูนติดเครื่องมือประมงของชาวประมงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องและยังไม่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จ เพราะแหล่งหาอาหารของพะยูน บางส่วนเป็นพื้นที่ทำประมงเช่นกัน

สาเหตุอื่นๆ เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะเรือเร็วอาจชนทำให้พะยูนบาดเจ็บหรือตายได้ ในระยะหลังเราเจอสัตว์หายากที่บาดเจ็บหรือตาย จากเรือชนหรือโดนใบจักรเป็นประจำ การดูแลเรื่องนี้ทำได้ยากแต่ต้องหาทาง

#ผลกระทบทางอ้อม แหล่งหญ้าทะเลถูกทำลาย อาจเกิดจากการประมง การพัฒนาชายฝั่งที่ไม่รอบคอบ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่กรมทะเลรายงานคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ ปริมาณแหล่งหญ้าทะเลโดยรวม ยังไม่ลดลงมากจนเป็นสาเหตุสำคัญ อาจเกิดการลดลงเฉพาะแหล่งเท่านั้น

การปลูกหญ้าทะเลเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า เราปลูกหญ้าได้มากมายแล้วพะยูนจะไม่สูญพันธุ์ ตราบใดที่ปัญหาหลักยังคงเป็นเรื่องการประมง มลพิษทางทะเล ขยะ(เศษอวนพันพะยูน) ภาวะโลกร้อน ฯลฯ อาจทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบต่อพะยูนได้ เมื่อเกิดผลกระทบหลากหลาย พะยูนที่เป็นสัตว์ที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ช้า อีกทั้งมีช่วงห่างระหว่างการตั้งท้องครั้งหนึ่งนาน 3-7 ปี จึงมีโอกาสสูญพันธุ์ได้

ทางออกคือต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ตามกลไกในตอนนี้คือผ่านทางกรรมการทะเลแห่งชาติ ให้อนุกรรมการทางทะเล จัดตั้งคณะทำงานเรื่องสัตว์หายากโดยเฉพาะ และหาทางแก้ไขแบบมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย โดยตั้งเป้าให้จริงจังว่าเราจะทำอะไร และมีตัวชี้วัดตรงไหน ไม่งั้นพะยูนจะเป็นความล้มเหลวของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากของไทย และนั่นคือความล้มเหลวของการอนุรักษ์ทะเลทั้งมวล

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Chainarong Kitinartintranee และ เว็บไซต์สืบนาคะเสถียร

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ