ถอดสมการข่าว EP.16 “รถเมล์ NGV เห็นได้ด้วยตา สัมผัสได้ด้วยใจ แต่นั่งไม่ได้ (ซักที)”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รถเมล์ NGV 100 คัน ถูกส่งมาลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งมอบต่อ ขสมก.ในวันที่ 29 ธันวาคมตามกำหนด แต่รถทั้ง 100 คัน กลับไม่สามารถนำออกมาจากท่าเรือได้ เพราะศุลกากรสงสัยว่าอาจสำแดงข้อมูลเป็นเท็จ เพื่อ “เลี่ยงภาษีนำเข้า”

รถเมล์ NGV 100 คันนี้ ถูกแจ้งว่า นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มีสัดส่วนของอะไหล่ต่างๆที่ประกอบในมาเลเซียถึง 90 % ในแต่ละคัน ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น จะได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าประเทศไทยถึงคันละ 40 % หรือประมาณเกือบ 1.16 ล้านบาทต่อคัน

แต่ข้อเท็จจริงที่กรมศุลกากรตรวจพบ คือ รถเมล์เหล่านี้ ถูกส่งมาจากประเทศจีนก่อนจะมาพักที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนนำเข้าประเทศไทย เรื่องนี้ จึงต่างออกไปทันที

ถ้ารถถูกประกอบที่มาเลเซีย ใช้อะไหล่จากมาเลเซีย มีฐานการผลิตที่มาเลเซีย โดยมีหลักการว่า ราคาของส่วนประกอบในรถอย่างน้อย 40% ของราคารถทั้งคัน มาจากประเทศที่เป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า จะได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในประเทศสมาชิก 40% เป็นภาษี 0%

แปลว่า ถ้าประกอบในมาเลเซีย ราคาอะไหล่ที่ผลิตและประกอบในมาเลเซีย มีมากกว่า 40% ก็นำรถเข้าไทย โดยได้ลดหย่อนภาษีเข้าไทย 40% ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทเอกชนคู่สัญญากับ ขสมก. คือ เบสท์ริน กรุ๊ป จะได้ลดภาษีรถคันละประมาณ 1.2 ล้านบาท

รวมรถที่จะนำเข้ามาทั้งหมด 489 คัน (100 คัน เป็นแค่ล็อตแรก / 8 ธ.ค.59 มาอีก 145 คัน รวมที่แหลมฉบังเวลานี้ อายัดไว้แล้ว 245 คัน) ก็เป็นเงินที่ได้ลดภาษี 586 ล้านบาท !!

จำตัวเลข 586 ล้านบาท ไว้นะครับ

เบสท์ริน กรุ๊ป แถลงข่าวเมื่อ 8 ธันวาคม 2559 หลังรถถูกอายัด 2 วัน โดยขอให้ปล่อยรถมาส่งมอบให้ ขสมก.ก่อน เพื่อบริการประชาชนได้ตามกำหนด แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ

สาระสำคัญ คือ เบสท์ริน กรุ๊ป อ้างว่า บริษัทของเขาสั่งสินค้า คือ รถเมล์ NGV โดยตรงมาจากบริษัทประกอบรถบัสของมาเลเซีย ที่ส่งออกไป 35 ประเทศ โดยตรง ... จ่ายเงินให้บริษัทของมาเลเซียโดยตรง โดยไม่ทราบว่าบริษัทประกอบรถของมาเลเซียใช้อะไหล่จากไหน และหากผิดตามเงื่อนไข ก็เป็นหน้าที่ที่บริษัทของมาเลเซียต้องชี้แจงเอง

ลองมาดูเส้นทางการขนรถเมล์ NGV ล็อตนี้กันดู

กรมศุลกากร มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า รถเมล์ NGV 100 คันแรกที่มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นถูกส่งออกมาจากประเทศจีน ไปที่ประเทศมาเลเซีย และรถ 100 คัน ใช้เวลาอยู่ที่มาเลเซีย 10 วัน ก่อนส่งมาที่ประเทศไทย

ในเอกสารของศุลกากร ยังเห็นด้วยว่า รถเมล์ทั้ง 100 คัน ออกจากจีนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปที่มาเลเซีย โดยมีน้ำหนักคันละ 12.8 ตัน และออกจากมาเลเซียมาไทย โดยมีน้ำหนักรถเท่าเดิม และข้อมูลที่บริษัทขนส่งรถชื่อซุปเปอร์ ซาร่า แจ้งต่อศุลกากร คือ ราคาของอะไหล่รถแต่ละคันเป็นของมาเลเซีย 90%

ซึ่งเมื่อดูจากรถด้วยตาเปล่า เห็นชัดเจนว่า อะไหล่ส่วนใหญ่มาจากจีน ส่วนเบาะที่นั่ง มาจากญี่ปุ่น เป็นไปได้ยากมากที่ 90% ของราคารถจะมาจากมาเลเซีย ตามที่สำแดงต่อศุลกากร

คำถามที่นำไปสู่การอายัดรถจึงเริ่มขึ้นตรงนี้

คำถามแรก เป็นการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี 40% หรือไม่ โดยแจ้งว่า 90% ของราคารถ เป็นอะไหล่จากมาเลเซีย ซึ่งได้ละเว้นภาษีในฐานะอาฟต้า

แต่ก็มีข้อโต้แย้งได้ว่า การไปที่มาเลเซีย 10 วัน เป็นการไปเปลี่ยนอะไหล่ที่มาเลเซียหรือไม่ โดยที่บริษัทประกอบรถบัสในมาเลเซีย ไปเอาอะไหล่จากจีนมาโดยที่เบสท์ริน กรุ๊ปไม่รู้ ... ซึ่งก็มีปัญหาว่า 10 วัน ถ 100 คัน เปลี่ยนอะไหล่ ประกอบทันหรือไม่

ข้อนี้ทีมข่าว PPTV สอบถามจากสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้รับคำตอบว่า โดยทฤษฎีแล้ว บริษัทประกอบรถของมาเลเซียบริษัทนี้ มีโรงงานและศักยภาพที่ทำได้วันละ 10 คัน จึงมีความเป็นไปได้

แต่ก็มีคำถามที่ 2 คือ น้ำหนักรถ จากจีน ไปมาเลเซีย และจากมาเลเซียมาไทย เป็นน้ำหนัก 12.8 ตัน เท่าเดิม ... คำถาม คือ เมื่อเข้าไปใส่อะไหล่เพิ่มจากมาเลเซีย ถึง 90% ของราคารถ ทำไมยังมีน้ำหนักรถเท่าเดิม ?? ทั้งที่ควรจะเพิ่มขึ้น

หรือถ้าจะมองโลกในแง่ดีถึงขนาดที่ว่า นำรถที่ประกอบเสร็จแล้วทั้งคันจากจีน ไปเปลี่ยนอะไหล่ที่มาเลเซีย (ซึ่งก็แปลกมากถ้ามีใครทำแบบนั้น) ก็ยังไม่ควรมีน้ำหนักเท่าเดิมเป๊ะ อย่างน้อยควรจะได้น้ำหนักที่ต่างออกไป

ดังนั้น อะไหล่ 90% ของราคารถ มาจากมาเลเซีย จึงเป็นปริศนาสำคัญ ที่ยากจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมองเรื่องน้ำหนักเป็นสำคัญ

อาจมองโลกในแง่ดีไปอีก ด้วยการมองแค่ ใช้อะไหล่แค่ 40% ของราคารถมาจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ได้ยกเว้นภาษีในฐานะสมาชิกอาฟต้า เป็นไปได้หรือไม่ โดยเริ่มจากอุปกรณ์น้ำหนักเบาที่อาจส่งผลน้อย ต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักรถ

ทีมข่าวเราติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านย่านยนต์ โดยเฉพาะรถบัสด้วย ก็ได้คำตอบว่า ทั้งเครื่องยนต์ เพลา แชสซี เกียร์ ไม่มีฐานการผลิตที่มาเลเซีย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้อะไหล่จากมาเลเซีย

ดังนั้นถ้าจะมีส่วนประกอบอื่นของรถที่มีราคา 40% ของราคารถ จึงเหลือเพียง “ตัวถัง” เท่านั้นที่เป็นไปได้ แต่... ถ้าเพิ่มตัวถังเข้าไป ยิ่งไปติดเงื่อนไขเรื่องน้ำหนักรถ ซึ่งจะไม่มีทางเท่าเดิมแน่นอน เพราะตัวถัง มีน้ำหนักคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของรถ ... การไปเพิ่มตัวถังที่มาเลเซีย จึงต้องมีน้ำหนักรถเพิ่มขึ้น 3-4 ตัน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เป็นข้อสังเกตเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงนะครับ

ยังไม่รวมว่าโครงการนี้ เคยล้มการประกวดราคามาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งที่ บริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งชนะการประกวดราคา โดยอ้างว่า ขอบเขตงาน (TOR) ไม่เป็นธรรม และเริ่มประกวดราคาใหม่จากราคาต่ำสุดที่บริษัทผู้ชนะเดิมเคยให้ไว้ จน “เบสท์ริน กรุ๊ป” กลายเป็นผู้ชนะการประกวดราคาแทน โดยชนะคู่แข่งที่เป็นผู้ชนะเดิมขาดลอย

บริษัท ที่ชนะเดิม เสนอต่ำกว่า “ราคากลางใหม่” (ราคาที่ บ.นี้ เคยชนะประกวดราคา) เป็นเงิน 176 ล้านบาท

เบสท์ริน กรุ๊ป เสนอราคาต่ำกว่า “ราคากลางใหม่” 632 ล้านบาท !!!

หมายความว่า 2 บริษัทนี้ เสนอราคาต่างกันถึง 456 ล้านบาท !!

ย้อนกลับไปอ่านตัวเลข 567 ล้านบาท ที่ผมบอกให้ “จำไว้”

ทำไม บริษัทที่เสนอขายของแบบเดียวกัน จึงเสนอราคาได้ต่างกันมากขนาดนี้

ยิ่งน่าแปลกใจว่า บริษัทที่แพ้ประกวดราคา มีโรงงานประกอบในไทย สามารถนำเข้าอะไหล่เป็นชิ้นมาประกอบเอง (ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40%) แต่ยังไม่สามารถสู้ราคาที่ต่ำกว่ามากขนาดนี้ได้

ผู้แพ้ประกวดราคา เคยให้สัมภาษณ์สื่อด้วยว่า การเสนอราคาต่ำขนาดนี้ บริษัทที่ทำได้ “ต้องยอมขาดทุนเท่านั้น”

บุศรินทร์ วรสมิทธิ์ นักข่าว PPTV ทำข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า “ถ้านำเข้ารถทั้งคันจากจีน และเสียภาษีตามกฎหมาย” คนขายรถเมล์ NGV ด้วยราคานี้ จะ “ขาดทุน” แบบนี้ครับ

ราคาในสัญญา บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคยระบุไว้ คือ 1,735 ล้านบาท

ราคาจัดซื้อรถ 489 คัน คันละ 2.9 ล้านบาท โดยนำเข้ารถจากมาเลเซียตามที่เบสท์รินยืนยัน ได้ยกเว้นภาษีนำเข้า ราคารวมจะอยู่ที่ประมาณ 1,418 ล้านบาท /

บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จะได้กำไร กว่า 317 ล้านบาท

แต่หากนำเข้าจากจีนโดยตรง 489 คัน คันละ 2.9 ล้านบาท บวกภาษีนำเข้าประมาณ 1.2 ล้านบาท จะมีราคา 2,004 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ขายให้รัฐ หรือพูดง่ายๆ คือ ขาดทุน 269 ล้านบาท

และคิดเป็นราคาที่ต่างกันเกือบ 600 ล้านบาท

ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับที่เบสท์ริน กรุ๊ป เสนอราคาประมูลโครงการนี้ ต่ำกว่าราคากลาง

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ถึงเวลาที่ท่านจะพิจารณากันดูเองละครับ

เรากำลังจะได้รถเมล์ NGV มาบริการประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม มีรถรองรับผู้โดยสารมาขึ้น ไม่ต้องเบียด ไม่ต้องโหน แอร์เย็น

หรืออาจต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้อง สร้างมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้โปร่งใส ถ้าไร้ข้อกังขา ก็ปล่อยออกมาวิ่งบริการประชาชนได้

แล้วที่ยังไม่ได้นั่งทั้งที่ผ่านโครงการนี้มา 7 รัฐบาลแล้วเนี่ย ... “ประชาชน ทำผิดอะไร”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ