จะบานแล้ว "ดอกบัวผุด" ดอกไม้กลิ่นเหม็น ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก !!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมอุทยานฯ แนะปฏิบัติตามข้อบังคับ เที่ยวชม "ดอกบัวผุด" อย่างเคร่งครัด หากเหยียบปุ่มตาที่ติดอยู่กับเครือเถาวัลย์ อาจทำให้สูญพันธุ์ได้

นายอรรณพ บัวนวล นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ รักษาการแทนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก เผยว่าเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ ที่ ขส.6 (บางหมาน) สำรวจ “ดอกบัวผุด” บริเวณป่าสันควน พบว่าขณะนี้ดอกเริ่มบานแล้ว บัวผุด หรือ บัวตูม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ย่านต้มไก่” มีลักษณะเด่นที่ดอก เป็นดอกเดียวขึ้นจากพื้นดินมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นเหม็นมาก และเป็นพันธุ์ไม้หายาก เป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อบานเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ 80 เซนติเมตร จนถึง 1 เมตรเศษ ส่วนมากดอกบัวผุดจะบานช่วงเดือน พ.ย. – พ.ค. โดยข้อควรระวังสำหรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาชมความสวยงามนั้น ขอให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด และขอให้ระมัดระวังในการเดินดูดอกบัวผุด เพราะหากเหยียบปุ่มตาของบัวผุดที่ติดอยู่กับเครือเถาวัลย์ ย่านไก่ต้ม ดอกบัวจะตายและสูญพันธุ์ได้

ถิ่นอาศัย

บัวผุด มักพบในเขตป่าดิบชื้น หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง ที่ระดับความสูง 500-700 เมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระนอง ไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นสถานที่ดูบัวผุดที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองไทย และยังมีรายงานว่าพบบัวผุดในบางพื้นที่ ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง พบบริเวณป่าดิบชื้นเหนือน้ำตกบัวสวรรค์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าบัวผุดมีการกระจายพันธุ์ไปไกล นอกจากนี้ยังพบได้ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียอีกด้วย

สถานภาพปัจจุบัน

บัวผุด จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่หายาก และตามบัญชีของ IUCN Red data book จัดว่าเป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม ใกล้ต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้บัวผุดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ คือ

1. การทำลายป่าไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบัวผุด ทำให้สภาพนิเวศเปลี่ยนแปลง โดยในปี พ.ศ. 2529 มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้พื้นที่ป่าจมน้ำ และชาวบ้านที่อพยพออกมาได้ตัดไม้ถางป่าเพื่อทำไร่ทำสวนเลี้ยงชีพ นับเป็นความเสียหายมหาศาล

2. การลักลอบเก็บดอกบัวผุดขายเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร โดยเชื่อว่าบัวผุดเป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ทำให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง และยังเป็นยาบำรุงบุรุษเพศ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีสรรพคุณจริงหรือไม่จากนักเภสัชศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางคนตัดเถาวัลย์ที่เป็นพืชอาศัยของบัวผุดไปด้วย

3. ถูกสัตว์ป่ากัดกินดอกตูม ทำให้บัวผุดไม่มีโอกาสบานเพื่อผสมพันธุ์ต่อไป

4. การที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปศึกษาธรรมชาติ และเข้าไปชมบัวผุดจำนวนมาก ส่งผลให้ดินบริเวณดังกล่าวแน่นขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของเถาวัลย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

- ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ