ปี 2016 ภาวะโลกร้อนยิ่งน่าห่วง (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปี 2016 ที่ผ่านมาเป็นอีกปีหนึ่งที่สถานการณ์ภาวะโลกร้อนยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการทำลายสถิติหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปีที่โลกร้อนที่สุด จนนำมาซึ่งปรากฏการณ์ฟอกขาวครั้งร้ายแรงที่สุดของเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ขณะเดียวกันระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกก็ทะลุเกินระดับ 400 ส่วนต่อล้านส่วน ทั่วโลกเป็นครั้งแรก

เป็นที่ยืนยันแล้วว่าปี 2016 เป็นปีที่โลกของเราร้อนที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกมา โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกปีนี้สูงกว่าสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติของปี 2015 ที่ 0.9 องศา  และอีกนิดก็จะแตะเส้นแดง 1.5 องศา ที่ผู้นำจาก 197 ประเทศ ได้ตกลงกันที่กรุงปารีสเมื่อปีแล้ว ว่าโลกจะต้องไม่ร้อนขึ้นเกินไปกว่านี้

นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21   อุณหภูมิเฉลี่ยโลกตลอด 17 ปีที่ผ่านมา มีการทำลายสถิติทุกปี ยกเว้นเพียงปีเดียว

อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนผืนแผ่นดินเท่านั้น  เพราะอุณหภูมิของมหาสมุทรหลายแห่งก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน  และผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนและสร้างความวิตกกังวลมากที่สุดก็คือ ปรากฎการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ของแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟในออสเตรเลีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก   โดยนับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบเมื่อเดือนมีนาคม  แนวปะการังทางตอนเหนือและตอนกลางได้ตายไปแล้วกว่า 2 ใน 3  ซึ่งถึงแม้ว่าทะเลในบริเวณดังกล่าวจะกลับสู่สภาวะปกติ ปะการังบางส่วนที่ยังรอดอยู่ได้ ก็ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนับสิบๆ ปี

พื้นที่หนาวเย็นแถบขั้วโลกก็ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยอุณหภูมิบริเวณแถบอาร์กติกถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ บนโลกเท่าตัว  ทำให้พื้นที่ทะเลน้ำแข็งขั้วโลกเหนือลดลงเกือบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาปกติ  และทำลายสถิติของช่วงฤดูหนาวอีกด้วย 

นับตั้งแต่ปี 1970 น้ำแข็งขั้วโลกเหนือได้ละลายในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 13.4 ทุกๆ สิบปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเป็นไปได้ที่พื้นที่น้ำแข็งซึ่งทำหน้าที่รักษาสมดุลสภาพภูมิอากาศโลกจะหายไปใน 3 ชั่วอายุคน

ส่วนระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มาในปีนี้  ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแอนตาร์กติกา ได้ทะลุ 400 ส่วนต่อล้านส่วนเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ล้านปี  โดยแอนตาร์กติกานั้น ถือเป็นพื้นที่สุดท้ายในโลกที่เหลืออยู่ที่ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่เกินระดับ400 ส่วนต่อล้านส่วน  ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจจะไม่มีทางลดลงกลับมาต่ำกว่าระดับดังกล่าวได้อีกเลย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อมูลที่น่ากังวลนี้ ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง จากการที่ข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก หรือ ข้อตกลงปารีส ที่194 ประเทศได้รับรองเมื่อช่วงปลายปี 2015  ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  หลังภาคีสมาชิกได้ให้สัตยาบันจนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด  ซึ่งหลังจากนั้น หลายๆ ประเทศก็เริ่มเคลื่อนไหวและออกมาประกาศแนวทางจัดการกับปัญหาสภาพอากาศของตนเอง  ไม่ว่าจะเป็น 4 เมืองใหญ่ของโลก อย่าง ปารีส มาดริด เม็กซิโก ซิตี้ และเอเธนส์ ที่ประกาศว่าจะห้ามรถที่ใช้น้ำมันดีเซลวิ่งบนถนนภายใน 5 ปี  หรือประเทศพัฒนาแล้ว 6 ประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ออสเตรีย และแคนาดา ก็ประกาศว่าจะเลิกใช้พลังงานจากถ่านหินโดยถาวรภายในปี 2030

 

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการที่ประชาคมโลกจะร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เพราะถ้าไม่อยากให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้  ทางออกเดียวคือมนุษย์จะต้องลดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ