ปริมาณฝน - น้ำทะเลหนุน – ผังเมืองพัง ปัจจัยน้ำท่วมใต้ (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




น้ำท่วมภาคใต้ที่หนักสุดในรอบ 10 ปีครั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงและขยายวงกว้าง

การจะวิเคราะห์ว่าหลังจากนี้น้ำจะไหลไปเส้นทางใด และพื้นที่ใดควรเตรียมรับมือกับน้ำท่วม เราต้องมาทำความรู้จักกับภูมิประเทศของภาคใต้ ซึ่งแตกต่างจากภาคกลาง และทิศทางการไหลของน้ำแตกต่างกัน


ภูมิประเทศของภาคใต้เป็นคาบสมุทร มีทะเลขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน แบ่งเป็นเป็นเขตที่ราบและเทือกเขา จากแผนที่จะเห็นว่า เทือกเขาสำคัญ ไม่ว่าจะเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรี ทั้งหมดวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้

แม่น้ำในภาคใต้จะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่ทะเลอันดามันและอ่าวไทย เมื่อฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำสะสมบนเทือกเขา น้ำจะไหลลงมาสู่ที่ราบในแนวซ้าย-ขวา และหากน้ำทะเลหนุน ก็จะส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมแย่ลง

ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการ ผอ.สำนักประยุกต์และบริการข้อมูลสารนิเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ประเมินว่าการระบายน้ำในช่วงนี้ทำได้ยาก เนื่องจากน้ำทะเลฝั่งตะวันออกหรืออ่าวไทยหนุนสูง 1-2 เมตร โดยเฉพาะที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและชุมพร ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคมนี้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมาคือปริมาณฝน ในระยะ 2-3 วันนี้ ที่ยังกระจายตัวอยู่ที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝนหนาแน่น ลักษณะเช่นนี้ จิสด้า อธิบายว่า เป็นอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ฝนมาช้า และตกหนักและนานกว่าปกติ

ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ นี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของภาคใต้ คาดการณ์ว่าฝนจะตกหนักไปจนถึงวันอาทิตย์นี้จะเริ่มเบาบางลง โดยจังหวัดที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ สุราษฎร์ธานี และชุมพร จะมีฝนตกหนักกว่าจังหวัดอื่น

นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการระบายคือ ผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนนและชุมชนที่สร้างปิดทับเส้นทางน้ำ ซึ่งในภาพรวมส่งผลให้การระบายน้ำทำได้ช้าลง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ