คอสะพานพัง วสท.ชี้สร้างผิดแบบ คมนาคมแย้งงบน้อย (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปยังภาคใต้ ถนนเพชรเกษมถูกน้ำท่วมสูง ขณะที่สะพานถูกตัดขาดรวม 5 จุด   

กรมทางหลวง รายงานสรุปเหตุการณ์ภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเส้นทางสายหลักสู่ภาคใต้ ว่ามีเส้นทางที่ประสบน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 4 แห่ง คือ

1. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง ห้วยยาง-บางสะพาน  อำเภอทับสะแก คอสะพานขาดด้านฝั่งขาเข้า
2. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงบางสะพาน-น้ำรอด อำเภอบางสะพาน  คอสะพานขาด           

3. ทางหลวงหมายเลข 3374 ช่วง บางสะพาน-หนองหัดไท อำเภอ บางสะพาน จุดนี้ถูกน้ำท่วม การจราจรผ่านไม่ได้  และ 

4. ทางหลวงหมายเลข 3497 ช่วงช้างแรก-บางสะพานน้อย ถูกน้ำท่วม การจราจรผ่านไม่ได้ เช่นกัน

เบื้องต้น กรมทางหลวง เร่งแก้ปัญหาให้การจราจรผ่านได้ก่อน โดยเฉพาะจุดที่คอสะพานขาด ถนนเพชรเกษม ช่วงทับสะแก - บางสะพาน ได้เร่งดำเนินการทอดสะพานเบลี่ย์ เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้ช่วงเย็นวันนี้

ปัญหาคอสะพานขาดเมื่อเกิดน้ำท่วม กลายเป็นคำถามว่าเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เหตุใดคอสะพานในบ้านเราจึงมักถึงพังเสียหาย ทีมข่าว PPTV สอบถามไปยัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้คำตอบว่าที่ผ่านมาการสร้างสะพานใช้งบประมาณน้อย จึงทำให้โครงสร้างไม่แข็งแรง ขณะนี้จึงเตรียมประเมินความเสียหายเส้นทางต่างๆ หลังน้ำลด รวมถึงสะพานที่ถูกน้ำพัดขาดในหลายพื้นที่ โดยการฟื้นฟูจากนี้จะต้องปรับปรุงโครงสร้างสะพานจุดต่างๆ ให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น

ทว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งสวนทางกับข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับประเด็นงบประมาณการสร้างสะพานทั่วประเทศ

สาเหตุที่ทำให้คอสะพานขาด

รศ.สุพจน์ ศรีนิล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายสาเหตุคอสะพานขาด ว่าเกิดจากโครงสร้างสะพานไม่ได้ถูกออกแบบ มาให้รองรับปริมาณน้ำจำนวนมาก โครงสร้างสะพานตามชนบทส่วนใหญ่ ถูกสร้างให้มีขนาดพอดีกับคลอง เมื่อคลองมีปริมาณน้ำจำนวนมาก บริเวณคอสะพานจะเกิดการแสน้ำวน น้ำจะกัดเซาะบริเวณริมตลิ่งช่วงปลายสะพาน จนทำให้คอสะพานขาด

แนวทางป้องกันแก้ไขสะพานขาดเบื้องต้น

สำหรับคอสะพานที่ยังไม่ขาดแต่ยังต้องแบกรับกับปริมาณน้ำจำนวนมาก รศ.สุพจน์ แนะนำให้เปิดเส้นทางน้ำไหลอื่นในบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดความรุนแรงการไหลของน้ำบริเวณคอสะพาน เช่น การวางท่อระบายน้ำใต้ถนน ในเส้นทางน้ำที่ล้นออกมาจากคลอง จะช่วยลดกระแสน้ำในคลองลงได้

แนวทางแก้ไขสะพานในอนาคต

ส่วนการก่อสร้างสะพาน เพื่อป้องกันคอสะพานขาด แนะนำให้สร้างคอสะพานยาวกว่าช่วงคลอง และยกช่วงสะพานให้สูงกว่าจากถนน จะทำให้มีช่องทางระบายน้ำเพิ่มขึ้นบริเวณคอสะพานเพิ่มขึ้น ช่วยลดกระแสน้ำที่ไหลมากระทบกับช่วงสะพาน จนทำให้คอสะพานขาด แนวทางการก่อสร้างคอสะพานลักษณะนี้ ใช้งบประมาณไม่มาก และไม่ต่างจากการสร้างสะพานแบบเดิม ซึ่งเป็นข้อมูลที่สวนทางกับข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ