กรมควบคุมมลพิษชี้ “น้ำเสีย-ของเสียอันตราย” ปี 59 กว่าครึ่งกำจัดไม่ถูกต้อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมควบคุมมลพิษ สรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ในปี 2559 พบ ขยะชุมชน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนตัน ส่วนคุณภาพน้ำ อากาศ มีแนวโน้มดีขึ้น แต่การกำจัดขยะ น้ำเสีย และของเสียอันตราย ส่วนใหญ่ยังกำจัดไม่ถูกต้อง

วันนี้ (15 ม.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ เผยข้อมูลสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ประจำปี 2559 โดย คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก และแหล่งน้ำนิ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่วนคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทยและชายฝั่งอันดามันส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นอ่าวไทยตอน บริเวณปากแม่น้ำสายหลักยังคงเสื่อมโทรม ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง

ขณะที่ ชายหาดท่องเที่ยวคุณภาพดี ได้แก่ อ่าวท้องตาปาน เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา หาดยาว จังหวัดตรัง หาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ หาดกะรน หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

ส่วนสาเหตุของปัญหามลพิษทางน้ำเกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ โดยน้ำเสียมาจากชุมชนมากกว่า 24 ล้านครัวเรือน หรือ 9.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ได้รับการบำบัด 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนขยะมูลฝอยชุมชน ในปี 2559 เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 190,000 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น 0.7%  จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ และขอนแก่น

ส่วนการกำจัดขยะกลับพบว่า ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 9.59 ล้านตัน หรือ 36% กำจัดแบบไม่ถูกต้อง 11.69 ล้านตัน หรือ 43% และคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพียง 5.76 ล้านตัน หรือ 21%

ของเสียอันตราย 3 ประเภท ได้แก่ ของเสียอันตรายชุมชน กากอุตสาหกรรม และมูลฝอยติดเชื้อ โดยปี 2559 มีของเสียอันตราย ทั้ง 3 ประเภท เกิดขึ้น 3.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย 2.8 ล้านตัน แต่จัดการถูกต้องเพียง 35% รองลงมาคือของเสียอันตรายจากชุมชน 6 แสนตัน ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่เหลือเป็นมูลฝอยติดเชื้อ

ขณะที่ เหตุฉุกเฉินและอุบัติภัยด้านมลพิษ ในปี 2559 เกิดขึ้น 25 ครั้ง เป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานมากที่สุด รองลงมาคือ การขนส่งสารเคมี และการลักลอบทิ้งกากของเสีย โดยจังหวัดที่เกิดเหตุบ่อยที่สุด คือ จังหวัดระยอง กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ และที่เป็นข่าวล่าสุด คือ เหตุการณ์ปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองตาย ซึ่งเกิดจากการรั่วไหลของน้ำกากส่าจากโรงงานเอทานอลราชบุรี ทำให้ระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ