13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก" นกที่สร้างรักแท้ในป่าทึบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" ทั่วโลกมีนกเงือกอยู่กว่า 50 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย โดยความรักของนกเงือก เปรียบเสมือน “รักแท้ในป่าทึบ”

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก ประกอบไปด้วย (1) นกกก (2) นกเงือกหัวแรด (3) นกแก๊ก (4) นกเงือกดำ (5) นกเงือกคอแดง (6) นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (7) นกชนหิน (8) นกเงือกสีน้ำตาล (9) นกเงือกปากดำ (10) นกเงือกปากย่น (11) นกเงือกกรามช้าง (12) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และ (13) นกเงือกหัวหงอก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว

สร้างโพรงรังเทียมให้นกเงือก หลังพบจำนวนลด-หวั่นสูญพันธุ์

นกเงือก "กกกอด" เหยื่อถูกล่า-จะงอยปากหัก ตายแล้ว

สำหรับ “นกเงือก” เป็นนกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนกที่มีความรักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนตาย เนื่องจากนกเงือกจะจับคู่แบบผัวเดียว – เมียเดียว นกตัวผู้จะเป็นผู้บินไปหานกตัวเมียที่ถูกใจ และเข้าไปเกี๊ยวพาราสีด้วยการนำอาหารหลากหลายชนิดมาให้กับตัวเมีย จนเมื่อนกตัวเมียยอมรับอาหารจึงเป็นการแสดงได้ว่าตัวเมียนั้นได้ยอมตกลงปลงใจ

การสร้างความรักของนกเงือกเริ่มจากทั้งคู่จะต้องเลือกสถานที่ทำรังที่เหมาะสม ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่างๆ ได้ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง เมื่อตัวเมียพอใจกับรังที่ตัวผู้นำเสนอ ตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก หลังจากนั้นก็จะหาเศษดินมาปิดปากรังเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก

แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรังโดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ในการออกหาอาการเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินออกมา ความรักของนกเงือกจึงเปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดออกไปหาอาหาร และตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไป พร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก

ทั้งนี้ นกเงือกเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่อาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

BERTRAND GUAY / AFP

ROSLAN RAHMAN / AFP

DIPTENDU DUTTA / AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ