ชาวนาลพบุรีหวั่นน้ำไม่พอใช้ทำนา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนาบางรายต้องหยุดทำนามาแล้วหลายครั้ง มาปีนี้ที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีน้ำ ชาวนาที่จังหวัดลพบุรี ที่อยู่ใกล้พื้นที่คลองส่งน้ำชลประทานส่วนใหญ่จึงตัดสินใจทำนาปรัง แต่แล้วก็พบว่าปริมาณน้ำมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ พวกเขาจึงหวั่นว่าจะมีน้ำไม่พอใช้ไปจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

แม้การสูบน้ำเข้านา จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ชาวนา แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่พวกเขาจะต้องยอม เพื่อพยุงชีวิตต้นข้าวที่กำลังเติบโตเขียวขจี และกำลังจะเก็บเกี่ยวได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยชาวนาบางรายลงทุนซื้อเครื่องสูบน้ำเอง แต่บางรายก็ใช้วิธีเช่าจากเพื่อนบ้าน และนี่เป็นผลมาจากการตัดสินใจทำนาปรัง ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีคำเตือนจากชลประทานมาแล้วว่าน้ำอาจไม่เพียงพอ 

ชาวนาในพื้นที่ หมู่ 6 ตำบลสนามแจ้งรายหนึ่ง ตัดสินใจทำนา 100 ไร่ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้ปลูกข้าว ซึ่งพื้นที่นาของเขา อยู่ในรัศมีคลองส่งน้ำของชลประทาน เขาจึงคิดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ แต่แล้วเมื่อต้นข้าวอายุได้ประมาณ 3 เดือน ปริมาณน้ำเริ่มลดลง ชาวนาละแวกเดียวกันเริ่มเก็บกักน้ำ จนเกิดการแย่งน้ำกัน ซึ่งหากน้ำหมดไป ก็เป็นไปได้ว่าเงินทั้งหมดที่ลงทุนไปหลายแสนบาท ก็จะจมหายไปกับการปลูกข้าวครั้งนี้ด้วย

ขณะที่ชาวนาบางส่วนเลือกหันมาทำสวน ปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อยแทน เพราะกลัวว่าจะขาดทุนซ้ำรอยเฉกเช่นการปลูกข้าวที่ผ่านมา อีกทั้งเพราะงบประมาณในการปลูกข้าวที่มีค่าใช้จ่ายหลายจุด มากกว่าการทำสวนจึงทำให้พวกเขาตัดสินใจพักช่วงการทำนาไปก่อน โดยหากน้ำในคลองหมดไป พวกเขายังสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาลได้

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลพบุรี ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้สถานการณ์น้ำมีอยู่ร้อยละ 36 ดีกว่าปีที่ผ่านมา จึงมีการจัดสรรน้ำให้ประชาชนสามารถทำนาปรังได้ 81,000 ไร่ ในพื้นที่เขตชลประทานเท่านั้น แต่กลับมีชาวนาทำนาถึง 2 แสนไร่เศษ มากกว่าที่กำหนดไว้ และนี่เองจึงทำให้น้ำมีปริมาณมีไม่เพียงพอ แต่ถึงอย่างไรทางชลประทานก็จะพยายามจัดสรรน้ำให้ชาวนาได้ใช้ ไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ แต่ก็อยากวอนให้ชาวนาที่กำลังจะทำนา ให้ชะลอหรือหยุดไปก่อนจนกว่าจะถึงฤดูฝน น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า

เพราะความเป็นห่วงกับสถานการณ์น้ำที่หวั่นจะกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน และเกษตรกร สำนักงานชลประทานที่ 10 และโครงการชลประทานลพบุรี จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็ถือว่าในปีนี้ภัยแล้งอาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเพียงแค่การคาดการณ์เท่านั้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมกันช่วยประหยัดการใช้น้ำ เพื่อพร้อมกับรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจรุนแรงได้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ