นักดาราศาสตร์ไทยชี้ "แทรพพิสต์-1" สภาพแวดล้อมคล้ายโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการไทยเชื่อค้นพบ "แทรพพิสต์-1" ใกล้เคียงโลก คาดมีอุณหภูมิเหมาะสม-มีน้ำบนผิวดาวเคราะห์ เปิดทางมนุษย์ย้ายถิ่นฐานใหม่

นายกิตติพัฒน์ มาลากิจ อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาเรื่องการค้นพบระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ "แทรพพิสต์-1" จัดโดยคณะวิทยาการและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า การค้นพบระบบดาวเคราะห์ใหม่ แทรพพิสต์-1 ถือเป็นมิติใหม่ของวงการดาราศาสตร์โลก เพราะเป็นครั้งแรกที่ค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่น ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ และยังพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับโลก ที่มีดาวเคราะห์อยู่ถึง 3 ดวง โดยมีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่จะมีน้ำบนผิวดาวเคราะห์ได้ ประกอบกับมีระยะทางไม่ห่างจากระบบสุริยะอีกด้วย

ทั้งนี้ การค้นพบแทรพพิสต์-1 เกิดจากการตั้งกล้องโทรทัศน์ที่มีชื่อว่า แทรพพิสต์ (TRAPPIST) โดยเป็นกล้องขนาดเล็กของประเทศเบลเยี่ยม แต่ไปตั้งไว้ที่ประเทศชิลี เพื่อสังเกตการลดลงของความเข้มแสงของดาวฤกษ์ เมื่อมีดาวเคราะห์เคลื่อนผ่าน หรือเรียกการสำรวจค้นพบนี้ว่า Transit Photometry โดยเริ่มจากปี 59 กล้องแทรพพิสต์สำรวจพบดาวเคราะห์เพียง 3 ดวงเท่านั้น จากนั้นนาซาจึงสำรวจในบริเวณใกล้ๆดาวเคราะห์3ดวงที่ค้นพบอีกครั้ง จนพบดาวเคราะห์อีก 4 ดวง ที่มีลักษณะคล้ายกับดาวพฤหัส โดยมีระยะห่างจากโลกเพียง 40ปีแสง หรือ 235 ล้านล้านไมล์ ซึ่งภายหลังจากการค้นพบครั้ง นาซาได้สำรวจหาสภาพแวดล้อมของกลุ่มดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงอีกครั้ง เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิต และองค์ประกอบสำคัญที่อาจจะเกิดสิ่งมีชีวิต อาทิ น้ำ หรือ มีเทน และโมเลกุลอื่นๆ 

นายศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)  กล่าวว่า การค้นพบระบบดาวเคราะห์แทรพพิสต์-1 ครั้งนี้ นำไปสู่การจุดประกายมุมมองทางความคิดของวงการดาราศาสตร์โลก เพราะอาจค้นพบสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่ใช่โลก และนำไปสู่โอกาสสำคัญของมนุษย์ชาติในการย้ายถิ่นฐานใหม่

ขณะเดียวกัน การใช้กล้องแทรพพิสต์มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย มาใช้สำรวจและศึกษา ถือเป็นการยกระดับในเรื่องการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ  รวมไปถึงการศึกษาแทรพพิสต์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์ของไทย ถูกจัดนำไปตั้งอยู่ที่หอดูดาวในประเทศชิลี, ประเทศจีน และประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาส่วนภูมิภาคในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยในอนาคตจะมีหอดูดาวในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากการศึกษาแทรพพิสต์เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทราบ และ เตรียมพร้อมในการรับมือในอนาคต

นายปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การค้นพบระบบ แทรพพิสต์-1 ถือเป็นระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง จะกลายเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการสำรวจวิเคราะห์ดาวดวงอื่นว่ามีสิ่งมีชีวิต หรือ สภาพแวดล้อมที่อาจจะมีลักษณะใกล้เคียงกับความคุ้นเคยของมนุษย์

น.ส.มณีเนตร เวชกามา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบระหว่างระบบ แทรพพิสต์-1 กับ ระบบสุริยะของเรา เชื่อว่าจะแตกต่างกันที่เวลา เนื่องจากความโค้งของเส้นโคจรในอวกาศต่างกัน เวลาที่มีแรงโน้มถ่วงมากๆ เวลาก็จะเดินช้ากว่าเดิม โดยการค้นพบครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นการค้นพบดวงดาวใหม่นอกระบบสุริยะและอาจมีสิ่งมีชีวิต บางทีในอนาคตข้างนอกมนุษย์อาจจะย้ายไปอยู่ดวงดาวดวงนี้อาจเป็นได้
 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ