“โรคฮีทสโตรก” ภัยใกล้ตัวช่วงฤดูร้อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการแพทย์ แนะวิธีรับมืออากาศร้อนเพื่อป้องกัน “โรคฮีทสโตรก” ขณะที่กรมอุตุฯ ประกาศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ 3 มี.ค.และสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพ.ค.2560

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2560” โดยระบุว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.60 โดยอุณหภูมิสูงสุดสูงขึ้นและมีอากาศร้อนต่อเนื่องในตอนกลางวัน และจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพ.ค.2560

สำหรับสภาพอากาศวันนี้ (13 มี.ค.60) ในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 37-39 องศาเซลเซียส ภาคกลาง อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออก อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส

จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในตอนกลางวัน อาจทำให้เกิด “โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก” (Heat Stroke) ได้ ดังนั้นมารู้จักวิธีป้องกันโรคฮีทสโตรก กัน

นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

สำหรับสัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ  รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน  เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน  รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว  ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น  และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย

บุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิด  “โรคฮีทสโตรก” คือ ผู้สูงอายุ  เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด  ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง   เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

วิธีป้องกันโรคฮีทสโตรก  คือ ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัด ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ ให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง ในกรณีที่จะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที  เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศ

ทั้งนี้ วิธีการช่วยเหลือบุคคลที่เป็น “โรคฮีทสโตรก” เบื้องต้น คือ นำเข้าในที่ร่ม  นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง  ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ รักแร้  เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบาย ความร้อนร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ