อุตุฯ ยัน ไทยไม่เกิด “ฮีตเวฟ” แม้อุณหภูมิสูงทะลุ 40 องศาฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากสื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ข่าวสารว่า วันที่ 20-22 มี.ค. นี้ จะเกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ ในประเทศไทย เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์อีควิน็อกซ์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดโรคฮีทสโตรก ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาระบุว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข่าวว่า ช่วงวันที่ 20-22 มี.ค. 60 ที่จะถึงนี้ จะเกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ บริเวณประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์อีควิน็อกซ์ ทำให้อุณหภูมิจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่มีอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้นั้น

ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องคลื่นความร้อนดังกล่าว ระบุว่า ข้อมูลที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์นั้นไม่เป็นความจริงและไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศต่างๆ แต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ปรากฎการณ์อีควิน็อกซ์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับบริเวณเส้นศูนย์สูตรพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน และจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมของทุกๆปี และไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก แต่อย่างใด

ส่วนคลื่นความร้อนดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ อุณหภูมิสูงสุดประจำวันสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉลี่ยมากกว่า 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 5 วันขึ้นไป โดยอ้างอิงจากองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก ในส่วนของประเทศไทยจะไม่มีคลื่นความร้อนเกิดขึ้น แม้ว่าอุณหภูมิในตอนกลางวันจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสก็ตาม

สำหรับกรณีของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง จึงขอให้กลุ่มคนเหล่านี้ดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ