ข่าวมั่ว! อุตุฯ แจง ไทยเกิด ฮีตเวฟ 21-22 มี.ค.ไม่จริง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมอุตุนิยมวิทยาปฏิเสธ ข่าวลือ ไทยจะเกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ ในวันที่ 21-22 มีนาคมที่จะถึงนี้เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์ อีควิน็อกซ์ ว่า ไม่เป็นความจริง และช่วงนี้ประเทศไทยกำลังจะเจอพายุฤดูร้อน

วันนี้ (14 มี.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงข่าวลือตามที่มีปรากฎตามโซเซียลมีเดียที่ระบุว่า ช่วงวันที่ 20-22 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะเกิดคลื่นความร้อน หรือฮีตเวฟ บริเวณประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์ อีควิน็อกซ์ (Equinox) ทำให้อุณหภูมิจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้เกิดโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ ปรากฎการณ์ อีควิน็อกซ์ เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับบริเวณเส้นศูนย์สูตรพอดีทำให้กลางวันเท่ากับกลางคืน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 21-22 มีนาคมของทุกปี ไม่ได้ทำให้เกิดคลื่นความร้อน หรือฮีตเวฟแต่อย่างใด อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่าประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะคลายความร้อนลง และคาดว่าปีนี้จะไม่ร้อนเท่าปีที่แล้ว

ทั้งนี้ฮีตเวฟ จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงสุดประจำวันสูงกว่าปกติมากกว่า 5 องศาติดต่อกัน 5 วันขึ้นไป ซึ่งแม้ประเทศไทยในตอนกลางวันจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่เกิดฮีตเวฟ เพราะไม่ได้สูงเกินค่าปกติมากนัก ทั้งนี้ประชาชนก็ควรต้องระวังโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก เพราะสามารถเกิดในช่วงอากาศร้อนจัด โดยควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

ส่วนการพยากรณ์อากาศในช่วงนี้ ในวันที่ 14-19 มีนาคม จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยช่วงวันที่ 14-15 มีนาคม จะเกิดขึ้นในบริเวณภาคอีสาน และภาคตะวันออก ส่วนวันที่ 16-19 มีนาคม จะเกิดพายุฤดูร้อนครอบคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง แล้วอากาศจะคลายความร้อนลง ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ