แท็กซี่ครองแชมป์กระทำผิดมากสุด 512 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการขนส่งทางบก ได้จัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ารถแท็กซี่โดยสาร กระทำความผิดมากที่สุดถึง 512 ราย  

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กวดขันการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร  โดยเน้นมาตรการเฝ้าระวังตรวจจับและเปรียบเทียบปรับที่เข้มข้นและจริงจัง  โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ตรวจสอบการให้บริการรถแท็กซี่  รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมทั้งสิ้นกว่า 15,000 คัน  พบการกระทำความผิดรวมทั้งสิ้น 678 ราย  

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรถแท็กซี่จำนวนกว่า 7,000 คัน พบการกระทำความผิดมากที่สุดถึง  512 ราย โดยความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ไม่ตรวจสอบมิเตอร์ตามรอบที่กำหนด 195 ราย, ใช้รถไม่จดทะเบียน จำนวน 84 ราย, ขับรถไม่แสดงใบอนุญาตหรือสำเนาคู่มือรถ จำนวน 75 ราย และปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 34 ราย

ส่วนรถตู้โดยสารสาธารณะ พบการกระทำความผิด 101 ราย โดยความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และสำหรับการตรวจสอบรถจักรยานยนต์สาธารณะ  พบการกระทำความผิด จำนวน  65 ราย เป็นการฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ)  มาให้บริการมากที่สุด จำนวน 52 ราย

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกรมการขนส่งทางบก ได้เปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิด และส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดี พร้อมบันทึกประวัติไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก  แต่หากพบการกระทำผิดซ้ำซาก ก็จะพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถสาธารณะทันที   นอกจากนี้หากพบรถสาธารณะไม่ปลอดภัยหรือเอาเปรียบผู้โดยสาร  สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง 

ขณะที่เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร  นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายฯ ได้เตรียมเสนอกรมขนส่ง ขอเปิดแอพพลิเคชั่น Smart Taxi  เพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และเพื่อแข่งขันกับกลุ่มแท็กซี่ Uber ที่ให้บริการแบบผิดกฎหมายและเกิดปัญหาการแย่งผู้โดยสารขึ้น

สำหรับระบบแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ GPS ในรถแท็กซี่และมีเครื่องสแกนบัตรผู้ขับขี่ มีระบบการเชื่อมโยงอัตราค่าโดยสารที่จะลิงค์กับแอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ยังมีกล้องหน้ารถเก็บภาพผู้โดยสารและผู้ขับไว้เป็นหลักฐานเมื่อมีการกระทำความผิด รวมถึงหน้าจอแสดงตัวตนผู้ขับ ความเร็วรถ และระบบมิเตอร์แบบดิจิตอล ซึ่งระบบนี้ได้พัฒนามากว่า 4 ปี โดยสหกรณ์ได้ขออนุญาตใช้งานกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว แต่ยังติดเงื่อนไขระเบียบปฏิบัติ ส่วนความคืบหน้าขณะนี้มีกลุ่มแท็กซี่ประมาณ 6 สหกรณ์ หรือรถแท็กซี่ ประมาณ 20,000 คัน เข้าร่วมการใช้แอพพลิเคชั่นนี้แล้ว

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ