เซียนรถ ชี้ ห้ามนั่งแค็บ-ท้ายกระบะ ปลอดภัยจริง แต่ต้องให้เวลาปรับตัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรการ ห้ามนั่งแค็บในรถกระบะและห้ามนั่งท้ายกระบะ แค่เริ่มใช้วันแรก ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้ว่ารัฐบาลจะให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน แต่ก็ถูกโยงไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ คือ คนในชนบท ที่เดินทางด้วยการอ่ศัยรถไปด้วยกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ยิ่งเกิดคำถามด้วยว่า ในช่วงสงกรานต์ จะเดินทางด้วยวิธีใด เพราะระบบขนส่งสาธารณะก็รองรับไม่ได้ทั้งหมด

“ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้ คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย”

นี่เป็นข้อความใหม่ ตามมาตรา 44 ที่ระบุว่า ผู้บับขี่รถยนต์ และคนโดยสารทุกคน ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่งเป็นที่มา ของการตีความต่อเนื่องว่า รถยนต์ 2 ที่นั่ง หรือ กระบะ 2 ประตู ที่มีแค็บหลังเบาะ ก็ไม่สามารถใช้โดยสารได้ เช่นเดียวกับพื้นที่ท้ายกระบะ ซึ่งถูกห้ามโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เข้าตามกฎหมาย ที่ต้องรัดร่างกายติดกับรถด้วยเข็มขัดนิรภัย

เรื่องนี้ ทำให้มีความเห็นแตกออกไป 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่ง เห็นด้วย เพราะช่วยให้เพิ่มความปลอดภัย  อีกฝ่าย วิจารณ์ ต้าน เพราะมองว่า ยากจะปฏิบัติในความเป็นจริง โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย

ทีมข่าวพีพีวี สอบถาม “เฮียกล่ำ” นายสมบูรณ์ จันทรร่มลำดวน จากรายการวิทยุ มอเตอร์ อินเทรนด์ ทาง FM99 เห็นด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมาย จะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งในรถทุกประเภท ตามคำสั่งกฎหมาย ม.44 ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการรัดเข็มขัดนิระภัยทุกที่นั่ง เพราะจากสถิติ พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่ไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย มักเกิดการบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต

ส่วนมาตรการห้ามนั่งบนแค็บ และ ท้ายกระบะ แม้เขาจะมองว่าช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่มาตรการนี้อาจจะไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะสถิติพบว่า ประเทศไทย มีการซื้อขายรถกระบะแค็บมากที่สุดในโลก เพราะรถประเภทนี้มีราคาถูก สามารถใช้งานได้หลากหลาย และที่ผ่านมาเซลล์ขายรถ มักเสริมเบาะนั่งที่แค็บเพิ่มเติมเข้ามาระหว่างขายรถ ทำให้ประชาชนหลายคนเข้าใจว่ารถประเภทนี้สามารถนั่งบนแค็บได้

ย้อนกลับไปกว่า 10 ปี ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงาน เคยมีโฆษณารณรงค์ออกมาชิ้นหนึ่ง ที่อาจกลายเป็นความเข้าใจว่า การเดินทางไปด้วยกันหลายๆคน ด้วยรถคันเดียวกัน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะประหยัด และช่วยลดการใช้ทรัพยากรด้วย โครงการ หาร 2 ที่ดำเนินการโดยกระทรงพลังงาน จะเห็นว่า ในอดีต ประเทศไทย เคยปลูกฝังค่านิยมนี้ให้กับประชาชน คือการเดินทางไปทางเดียวกัน ด้วยรถคันเดียวกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพที่ต่างจากวันนี้ ซึ่งรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น

แน่นอนว่า มาตรการ “รัดเข็มขัด” ห้ามนั่งแค็บ ห้ามนั่งท้ายกระบะที่ออกมา จะเห็นผลเด่นชัด หลังสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งคาดว่า รัฐบาลน่าจะมั่นใจว่ายอดคนตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องลดลงอย่างมาก และตัวเลขหลัง 7 วันอันตราย จะกลายเป็นตัวเลขที่รัฐบาลใช้เพื่ออธิบายความสำเร็จของนโยบายอย่างแน่นอน

แต่อีกมุม นี่เป็นมาตรการที่ถูกสะท้อนว่า ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ เพราะประชาชนที่ไม่มีรถส่วนบุคคล คือ คนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เมื่อไม่สามารถติดรถไปทางเดียวกันได้เหมือนที่เคยทำ โดยเฉพาะคนชนบทที่ใช้รถกระบะเป็นหลัก  ที่สำคัญ เมื่อจะเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ ก็ไม่เพียงพอ

นักจัดรายการชื่อดัง มอเตอร์ อินเทรนด์ มองประเด็นนี้ว่า มาตราการ ห้ามนั่งบนแค็บ และ ท้ายกระบะ ที่ออกมา ถูกบังคับใช้ในระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป จึงส่งผลกระทบกับประชาชนในช่วงนี้ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ และระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย ยังไม่เอื้อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ความจำเป็นที่ประชาชนยังต้องใช่กระบะเพื่อเดินทางไปมา จึงยังมีอยู่จำนวนมาก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ