โดนแน่! เก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ทุกชนิดในปีนี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงการคลัง ยืนยันเตรียมออกกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ทุกชนิดภายในปีนี้

วันนี้ (18 เม.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ โดยคาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ในอีก 2-3 เดือน หรือไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ 

โดยกรมสรรพากรได้วางแนวทางการจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ไว้ 2 แนวทาง คือ ภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศ และ อี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการในต่างประเทศ

ซึ่งกฎหมายปัจจุบันของกรมสรรพากร ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าในประเทศเท่านั้น ดังนั้นร่างกฎหมายที่จะเสนอใหม่นี้ กรมสรรพากรจึงได้ศึกษาผลดีและผลเสียจากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ผ่านการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญเพื่อรองรับการค้าบนโลกออนไลน์ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

สำหรับหลักการที่วางไว้คือ กรณีเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างชาติ ที่มีข้อความหรืออักษรเป็นภาษาไทย ร่างกฎหมายใหม่ จะเปิดกว้างให้กรมสรรพากรตีความว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีสถานที่หรือสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย และเมื่อผู้ประกอบการมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย กรมสรรพากรสามารถประเมินภาษีจากธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยกรมสรรพากรอาจจะระบุจำนวนเงินที่ชัดเจนในการเสียภาษี ซึ่งกรณีนี้หากผู้ประกอบการคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็สามารถยื่นเอกสารประกอบการชี้แจง เพื่อการประเมินภาษีร่วมกันได้

ทั้งนี้อัตราภาษีที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บ จะเท่ากับอัตราภาษีที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เก็บในอัตรา 7% ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บในอัตรา 20% ทั้งนี้การค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการทั้งหมดของไทยในขณะนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ