ผลพวง “โชกุน” ภัยฉ้อโกง พบบริษัทจดทะเบียนในไทยเพียบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นับตั้งแต่เกิดปรากฎการณ์หลอกซื้อทัวร์ญี่ปุ่นและไม่สามารถเดินทางได้จริง โดยมี “โชกุน” เป็นผู้ต้องหาในฐานะตัวการฉ้อโกงประชาชนกว่า 2 พันคน น่าสนใจว่า มีผู้เดือดร้อนและถูกหลอกด้วยรูปแบบธุรกิจระดมทุนลักษณะนี้ ออกมาปรากฎตัวจำนวนมาก และแทบทุกกรณีเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าคดี “โชกุน” ชัดเจนแล้วว่า ตำรวจจะคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทุกคน และแม่ข่ายจำนวนหนึ่งยอมส่งมอบทรัพย์สินเพิ่มเติม คืนให้กับตำรวจแล้ว 

ที่กองบังคับการปราบปราม วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันของตำรวจหลายส่วนในสังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลางที่ร่วมกันทำคดี “โชกุน” โดยมี พล.ต.อ.กวี สภานันท์ ที่ปรึกษา สบ.10 ร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า และทำให้สำนวนรัดกุมที่สุด ก่อนจะส่งตัวผู้ต้องหา 8 คน ในเครือข่ายโชกุน ฝากขังผัดแรกในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.)  ซึ่งพนักงานสอบสวนจะขอคัดค้านการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาอาจหลบหนี เพราะคดีนี้เป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและมูลค่าความเสียหายสูง 

ทั้งนี้ ตำรวจเตรียมเรียกบริษัทเช่าเหมาลำที่กลุ่มผู้ต้องหาอ้างถึง มาสอบปากคำในสัปดาห์ รวมถึงผู้แทนสายการบินค่าเธ่ย์ แปซิฟิค และการบินไทยด้วย ส่วนการติดตามเงินมาคืนให้กับผู้เสียหาย ตำรวจเชื่อว่า โชกุนและคนใกล้ยังมีทรัพย์สินมากกว่า 12 ล้านบาท ที่อยู่ในข่ายต้องติดตามอายัด โดยแม่ข่ายลูกทีมของโชกุนบางส่วนก็แสดงความต้องการ นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมาส่งคืนให้กับตำรวจแล้วจำนวนหนึ่ง  

อย่างไรก็ตาม หลังรับผิดชอบคดีโชกุน กองบังคับการปราบปราม กลายเป็นหน่วยงานที่มีผู้เสียหายจากธุรกิจคล้ายกันมาร้องทุกข์จำนวนมาก โดยวันนี้ผู้เสียหายกว่า 30 คน นำเอกสารหลักฐานมาขอให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามช่วยติดตามคดี หลังถูกหลอกให้ประมูลทองคำบนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "รัชชุดา แย้มทอง” โดยรูปแบบคือ การเปิดให้ประมูลทองคำทั้งทองแท่งและรูปพรรณ โดยผู้ชนะประมูลจะได้ทองคำในราคาถูกกว่าท้องตลาด และสามารถนำไปขายต่อได้ 

ผู้เสียหายเปิดเผยว่า ในระยะเริ่มแรก พวกเขาประมูลและได้สินค้าจริง แต่เมื่อประมูลซ้ำหลายครั้ง เจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่เปิดประมูลก็เพิ่มมูลค่าทองคำ เมื่อประมูลได้กลับไม่ส่งสินค้าให้ และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย จนล่าสุดมีผู้เสียหายแล้วกว่า 100 ราย เสียเงินรวมกันสูงถึง 50 ล้านบาท เบื้องต้นตำรวจแนะนำให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. หน่วยงานที่มีอำนาจรับผิดชอบคดีบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยตรง 

ขณะที่ อีกกรณีคล้ายกับรูปแบบที่เครือข่ายโชกุนใช้ และคล้ายกับรูปแบบธุรกิจที่หมอและวิศวกร จำนวนมากเสียหาย และเข้าร้องเรียนกับกองบังคับการปราบปรามอย่างมาก โดยผู้เสียหายกว่า 50 คน เข้าร้องเรียนกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หลังถูกชักชวนให้ซื้อหุ้นลงทุนในกิจการเหมืองทองที่ประเทศมาเลเซีย ของบริษัท เกสูมา โกตา ไทยแลนด์ หรือ เคเคที ภายใต้สัญญาที่บริษัทฯอ้างว่า จะจ่ายเงินปันผลทุกสัปดาห์ และคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด 17 สัปดาห์ แต่ปรากฎว่าบริษัทฯขาดจ่ายเงินคืนมานานกว่า 5 เดือนแล้ว และไม่ให้คำตอบว่าจะคืนเงินลงทุนให้ เบื้องต้นพบผู้เสียหายกว่า 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท

ประธานสมาพันธุ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ระบุว่า การชักชวนลงทุนครั้งนี้ เป็นเครือข่ายแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทเคเคที ไม่ได้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ในการขายหุ้น และไม่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคว่าเป็นธุรกิจขายตรง หรือมีสินค้าใดเพื่อจำหน่าย ที่สำคัญบริษัทแห่งนี้ทำกิจการเหมืองทองจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้จากระบบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้กับเคเคที 

ดีเอสไอ ระบุว่า จากตรวจสอบเบื้องต้นการลงทุนหุ้นเหมืองทองคำเคเคที อาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ขอเวลารวบรวมเอกสารและตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หากประชาชนคนใดที่สงสัยว่าอาจถูกหลอกเข้ามาในเครือข่ายดังกล่าว สามารถส่งหลักฐานเอกสารมาให้ดีเอสไอได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ