วิกฤติแล้ง! กลาง อีสาน เตรียมรับมือ ควบคุมการใช้น้ำจากเขื่อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายจังหวัดเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง โดยที่จังหวัดอ่างทอง พบระดับแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างรวดเร็ว จนสันดอนทรายกลางแม่น้ำโผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ขณะที่เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เหลืออยู่ในเขื่อนเพียง ร้อยละ 24 ของความจุกักเก็บทั้งหมด

วันนี้ (24 เม.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณหน้าวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสันดอนทรายกลางแม่น้ำ และเหล็กรอป้องกันกระแสน้ำ ที่ปักอยู่เป็นแถวยาวกลางลำน้ำเจ้าพระยา โผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งปกติเหล็กรอทั้งหมดจะอยู่ก้นแม่น้ำ หลังเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนไปสู่ท้ายเขื่อน

เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนมีน้อย จำเป็นต้องเก็บไว้รักษาระบบนิเวศ และเพื่ออุปโภคบริโภค ทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่ในจังหวัดอ่างทองเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ล่าจังหวัดอ่างทองเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยให้แต่ละพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอติดตามสถาการณ์และรายงานให้จังหวัดทราบเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา วิกฤตภัยแล้งเริ่มกระทบแล้วเช่นกัน โดยวันนี้ นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ก็ยังต้องอยู่ในการเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณการใช้น้ำอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ต้องใช้อุปโภคบริโภคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ในเขื่อนเพียง 77 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนที่เหลืออีก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนมูลบน ขณะนี้มีน้ำกับเก็บอยู่ที่ 41% เขื่อนลำแซะ มีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 30% เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำกักเก็บ 42% และเขื่อนลำปลายมาศมีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 57% ของปริมาณน้ำกักเก็บทั้งหมด จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ได้จนพ้นหน้าแล้งนี้

ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและแกะจังหวัดอุทัยธานี โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขาหลวงในเขตวนอุทยานเขาหลวง พื้นที่ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และ ตำบลเนินศาลา อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน และที่มีจำนวนการเลี้ยงแพะและแกะเป็นอาชีพเสริมมากที่สุด ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ต้องต้อนแพะและแกะของตนเอง ไปยังบริเวณเหนือเขื่อนวังร่มเกล้า ในพื้นที่ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน ยังพอมีทุ่งหญ้าที่น้ำเพิ่งแห้งและยังมีทุ่งหญ้าขึ้นเป็นหญ้าอ่อนๆ พอที่จะให้แพะและแกะได้เล็มหญ้าเป็นอาหาร

รวมทั้งยังมีน้ำขังพอให้ได้ดื่มกิน แต่ต้องต้อนฝูงแพะและแกะออกจากถิ่นเลี้ยงเดิมตั้งแต่ 6 โมง เช้า และต้อนกลับช่วง 4 โมง เย็น กว่าจะถึงใกล้ค่ำ สภาพต้องเป็นอย่างนี้มานานกว่า 2 เดือนแล้ว ได้รับความรับลำบาก แต่ต้องทนเลี้ยงเพื่อไม่ให้แพะและแกะซูบผอม จนขายไม่ได้ราคา และขาดทุน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ