กรมสุขภาพจิตแนะสัญญาณเตือนอันตราย วอนอย่าชม แชร์ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัจจุบันการฆ่าตายตัวผ่านสังคมออนไลน์มีให้เห็นบ่อยครั้งมากขึ้น ล่าสุดกรมสุขภาพจิตได้ออกมาเตือนผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ให้อย่าชม อย่าแชร์การไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หากมีผู้ติดตามหรือผู้รับชมจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

จากฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายของคนไทย โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น  ราชนครินทร์ พบว่ามีแนวโน้มค่อยๆสูงขึ้น ล่าสุด ปี 2558 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ผู้ชาย มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า ปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย พบว่า เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะปัญหาความรักความหึงหวง ที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเองมากที่สุด ถึงร้อยละ 20 รองลงมา คือ โรคซึมเศร้า และ น้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ตลอดจนพบว่าการดื่มสุราเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำร้ายตนเอง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า การฆ่าตัวตายพร้อมกับไลฟ์สดฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์นั้น เฉลี่ยจะพบเดือนละ 1-2 ราย การถ่ายทอดลักษณะลักษณะนี้จะไม่สามารถตัดต่อหรือเซ็นเซอร์ขณะออกอากาศได้ เมื่อมีผู้เข้าไปชมก็อาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบได้ หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตาย และอาจเข้าใจผิดคิดว่าความตายเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง เคยคิดอยากตาย มีปัญหาทุกข์ใจ รวมทั้งผู้รับชมที่เป็นเด็ก อาจเข้าใจผิดคิดว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย หากได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น


“หากพบเห็นภาพเหล่านี้ ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต  เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต”

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในลักษณะหุนหันพลันแล่น ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อนทั้งจากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่ง SMS การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น โดยคนที่อยากฆ่าตัวตายหรือ   ทำร้ายตัวเองมักจะมีความลังเล พะวักพะวง การช่วยเหลือในระยะนี้ จึงมีความสำคัญและเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุด จากคนใกล้ชิด ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อให้บุคคลากรด้านสุขภาพจิตช่วยดูแลต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลจิตเวชก็ตาม

สำหรับการปรากฏตัวในโลกโซเชียลของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า เขาอาจจะยังมีความลังเลอยู่ และกำลังร้องขอความช่วยเหลือ ในจังหวะนี้คนใกล้ชิดสามารถช่วยเหลือผู้ที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย ด้วย “การประวิงเวลา” และควรให้กำลังใจ ให้ข้อคิด พูดคุยเพื่อยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น โดยสิ่งที่ไม่ควรทำคือ การนิ่งเฉย ท้าทาย เยาะเย้ย ด่าว่า หรือตำหนิ และขอความช่วยเหลือจาก 191 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323  หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว


ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งเป้าหมายให้มีการลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.0 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2564 ซึ่งแนวทางป้องกันโดยพื้นฐานคือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้ง การฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็ต้องสื่อสารดีต่อกัน ตลอดจนเอาใจใส่กันและกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายก็จะสามารถป้องกันได้

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ