ความรุนแรงในครอบครัว ความจริงกับสิ่งที่สวนทาง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คอมเมนต์ที่ 36 โดย เข็มขัดสั้น

พ่อฆ่าลูกสาววัย 11 เดือน
ลุงข่มขืนฆ่าหลานสาว 5 ขวบ
ผู้หญิงถูกรุมโทรม
เด็กถูกเร่ขายบริการให้กับข้าราชการในพื้นที่
ฯลฯ

เหตุสลดที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ที่เคยสัมผัสกับคดีความรุนแรงในเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว อย่างเช่นเมื่อ 3 ปีก่อน ช่วงนั้นก็มีคดีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์  

            คดีนักศึกษาหนุ่มก่อเหตุฆ่าพ่อ แม่ และน้องชายเสียชีวิตคาบ้านใน จ.ปทุมธานี คดีสามียิงอดีตภรรยาที่แยกกันอยู่เสียชีวิตภายในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่บนถนนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

            จากห้วงเวลานั้นมาถึงปัจจุบันนี้ เมื่อมีคดีความรุนแรงในครอบครัวเกิดถี่ขึ้นจึงอยากนำมาพูดถึงอีกสักครั้ง

            จริงอยู่ที่การก่ออาชญากรรมเด็ก ผู้หญิง หรือคนในครอบครัวด้วยกันเอง เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะยุคสมัยใด และไม่มีวันหมดจะสิ้นไปจากโลกใบนี้

            แต่คดีต่าง ๆ ที่ยกมาพูดถึง ณ ที่นี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ “ครอบครัว” หน่วยที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุดของสังคม

            ความรุนแรงในครอบครัวที่รณรงค์กันทุกปี ไม่ทุเลาเบาบางลงเลยอย่างนั้นหรือ?

            สำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวประจำปี 2551-2556 พบว่า ปี 2554 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสูงที่สุด คือ จำนวน 1,096 เหตุการณ์ หลังจากนั้นมาตัวเลขพุ่งสูงขึ้นไปถึงประมาณ 1,200 เหตุการณ์ บางปีเกือบ 1,300 เหตุการณ์

            แม้ว่า 2 ปีหลัง เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังมี เด็กและผู้หญิงอีกไม่น้อยที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ไปแจ้งความ หรือขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะพวกเขา “อับอาย” และ “ไม่อยากให้ครอบครัวมีปัญหา”

            เหตุผลข้อหลังนี้ สะท้อนใจ เพราะในทางกลับกัน ฝ่ายชาย ซึ่งในที่นี้พูดถึงเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวซึ่งอยู่ในสถานะเป็น “ผู้กระทำ” เท่านั้น ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเคยใช้ความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ

            ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2559 อ้างข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มชายอายุ 20-35 ปี จำนวน 1,617 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยอมรับว่า เคยใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พูดตะคอกเสียงดัง ใช้คำหยาบ ทำลายข้าวของ

            การใช้ความรุนแรงในครอบครัวสอดล้องกับประเภทเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวสำรวจไว้

            อันดับแรก คือ ทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือ ดุด่า ดูถูก, หยาบคาย ตะคอก ประจาน ขู่ บังคับ, การละเลย ทอดทิ้ง, ข่มขืน, กักขัง, อนาจาร, ล่อลวง

             ทว่าที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ความคิดที่ว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องเป็นสมบัติของสามี ความคิดแบบนี้มีอยู่ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง

             อีกอย่างที่น่ากังวลคือ การที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงเพราะหึงหวง เพราะต้องการแสดงออกว่ารัก และถ้ามีโอกาสล่วงเกินแล้วไม่ทำถือว่าไม่ฉลาด

             พวกความคิดผิดเพี้ยนอย่างนี้มีอยู่ถึง 14% ของกลุ่มตัวอย่าง!

            ในปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็มีปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ นั่นคือ ปัญหาเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง ล่าสุดปี 2559 ในรายงานของสำนักบริการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้มาใช้บริการผ่านศูนย์พึ่งได้กว่า 20,000 ราย เป็นเพศหญิงมากที่สุด มีจำนวน 18,919 ราย

            ส่วนเด็กถูกกระทำรุนแรงมีกว่าหมื่นคน โดยลักษณะการกระทำรุนแรงมีทั้งทางกาย ทางเพศ ทางจิตใจ การละเลยทอดทิ้ง และการล่อลวง บังคับแสวงหาประโยชน์ ซึ่งในลักษณะการทำรุนแรงทางจิตใจ กับการละเลยทอดทิ้ง มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้น ดูได้จากตารางที่นำมาประกอบ

            ลักษณะการกระทำรุนแรงในกลุ่มเด็กไม่ต่างจากกลุ่มผู้หญิงซึ่งพบว่าถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ทางจิตใจ และถูกละเลยทอดทิ้ง เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

 ยูนิเซฟยกตัวอย่างของความรุนแรงทางอารมณ์จิตใจต่อเด็ก 
- ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีใครรัก ไร้ค่า ไม่คู่ควร ต่ำต้อย หรือรู้สึกตกใจกลัว
- การดูถูกเหยียดหยาม เยาะเย้ย เปรียบเทียบในลักษณะดูถูก การทำให้เด็กอับอาย และการโยนความผิดให้เด็ก
- การเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกกีดกัน การลำเอียง หรือการจ้องจับผิดเด็กบางคน
- การตั้งความหวังซึ่งเกินความเป็นไปได้ และไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก
อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ผลักดัน หรือกดดันต่อตัวเด็ก
- การข่มขู่จนทำให้เด็กหวาดกลัว

              จากข้อมูลที่อ้างอิง พอบอกได้ว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เบาลง มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มมากขึ้น และซับซ้อนขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับเด็ก และสภาพจิตใจของเด็กที่บอบช้ำ

              แต่จากสภาพความเป็นจริงและการรับมือกับปัญหานี้ดูจะสวนทาง

              สื่อสังคมออนไลน์ สื่อกระแสหลัก เป็นกระจกสะท้อนความคิดเห็นของสังคมที่มีต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากภาพอดีตที่ถูกนำมาฉายซ้ำ

              ที่ต่างจากไปเมื่อก่อนเห็นจะเป็น วงรอบการฉายซ้ำเร็วขึ้น จะเป็นเพราะสื่อสมัยใหม่หรือไม่ ไม่แน่ใจ

              อีกประการคือ ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือ เด็กผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจ และถูกทอดทิ้งมีจำนวนมากขึ้น

              สถานการณ์การใช้ความรุนแรงกับเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว จึงถึงจุดที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องหันกลับมาทบทวนเสียใหม่ เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและถูกจุดเสียที อย่ามัวแต่นั่งเสพโศกนาฏกรรมอย่างเดียว 

              ไม่ได้หวังว่าจะต้องแก้ปัญหาให้หมดไป เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ขอให้มันลดน้อยลง ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิดวนซ้ำและดำดิ่งไปมากกว่านี้.

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากรายการ สารตั้งต้น ตอน ยุติธรรม ช้ำรัก ชมย้อนหลังได้ ที่นี่

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ