วิศวกรใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ ถูกเปลี่ยนมิเตอร์ ค่าใช้ไฟเกือบเท่าปกติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่วิศวกรหนุ่ม เลือกใช้โซลาร์เซลล์ระบบออนกริดคู่กับมิเตอร์ไฟฟ้าจานหมุน เพื่อช่วยลดค่าไฟ ทำให้ค่าไฟลดลงมาก จนการไฟฟ้าต้องมาขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบดิจิทัล ทำให้ 1 สัปดาห์หลังเปลี่ยนมิเตอร์ ค่าการใช้ไฟพุ่งสูงขึ้นจนเกือบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าปกติที่ไม่มีโซลาร์เซลล์ จึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งคำถาม ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะใช้โซลลาร์เซลล์ได้อย่างเสรี

มิเตอร์ไฟฟ้าจานหมุน ของบ้านนายเอกชัย รัตนะสิทธิ์ วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ เคยติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้า แต่หลังค่าไฟที่บ้านของเขาลดลงจนติดลบ เนื่องจากเขาติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบออนกริด คือ ยังคงเชื่อมโยงกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า ทำให้การไฟฟ้า มาเปลี่ยนมิเตอร์ไฟเป็นระบบดิจิทัล จนค่าไฟฟ้าที่บ้านเอกชัย ในรอบสัปดาห์หลังเปลี่ยนมิเตอร์ กลับมาวิ่งในอัตราที่เกือบเท่าการใช้ไฟฟ้าปกติ ไม่ต่างจากช่วงก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์

เพราะกฎหมาย ที่ตั้งเงื่อนไขกับคนที่ผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์ แบบออนกริด ว่าต้องขออนุญาตก่อนจึงจะติดตั้งได้ ทำให้เอกชัย เห็นว่า เขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยาก ต้องไปขอกับคณะกรรมการกิจการพลังงานแห่งชาติ และเมื่อได้รับอนุญาต ก็ต้องรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ระบบดิจิทัลอยู่ดี

เอกชัย มองว่า ที่จริงแล้ว เขาลงทุนสูงกับโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าเอง และยังมีส่วนที่เหลือจ่ายไฟคืนเข้าระบบของการไฟฟ้า แต่กลับต้องมาเสียค่าไฟไม่ต่างจากเดิม พร้อมไปกับต้องส่งไฟที่ผลิตได้ เข้าระบบไปฟรีๆ ถึงสัปดาห์ละ 22 หน่วย

เมื่อถูกบังคับให้ต้องปิดระบบออนกริด และต้องเสียค่าไฟเดือนละกว่า 1,000 บาท เอกชัยจึงเตรียมจะเปลี่ยนเป็นติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบไฮบริด ออฟกริด หมายความว่า เขาจะต้องเพิ่มแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟ และผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ มาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ของตัวเองโดยไม่พึ่งระบบสายส่งของการไฟฟ้า เหลือเพียงต่อเชื่อมกับสายส่งไว้เมื่อใช้ไฟในช่วงที่พลังงานสะสมในแบตเตอรี่หมดแล้วเท่านั้น เขามองว่า กติกา ที่ภาครัฐใช้อยู่ ทำให้นี่คือหนทางสุดท้ายที่ทำให้เขาสามารถผลิตไฟใช้เองได้อย่างเสรี

การใช้โซลาร์เซลล์ แบบออนกริด ของเอกชัย ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายตามมา เพราะการไฟฟ้า ยืนยันว่า การติดตั้งไม่ถูกกฎหมาย และการส่งไฟที่ผลิตได้เกินกลับเข้าสู่ระบบอาจทำให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่เมื่อต้องเข้าไปซ่อมไฟในช่วงไฟดับ แต่ประเด็นนี้ ก็ถูกโต้แย้งจากนักวิชาการ ซึ่งบอกว่า ข้ออ้างเรื่องความไม่ปลอดภัย ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อไฟดับ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ก็ส่งเข้าระบบไม่ได้เช่นกัน และเห็นว่า การออกกติกาขออนุญาตที่ยุ่งยาก มีการจำกัดโควตาผู้ขอใช้โซลาร์เซลล์ และการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบดิจิทัล คือกระบวนการที่จำกัดการใช้พลังงานทดแทน ทั้งที่รัฐควรส่งเสริมมากกว่า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ