กรมอุทยานฯ เผยแนวทางรักษา “ลิงอ้วน” พร้อมปรับอาหาร-คุมน้ำหนัก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมอุทยานฯ เผยต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร “ลิงอ้วน” หลังได้ช่วยเหลือมาจากเขตบางขุนเทียน พบว่าลิงมีน้ำหนักมากเกินไป

หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพลิงอ้วนในโลกออนไลน์ ว่าพบลิงอ้วน ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้ นั่งอยู่ที่บริเวณจุดชมวิว ถนนเลียบวงแหวนใต้ เขตบางขุนเทียน กทม. เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าลงพื้นที่และเพื่อนำลิงตัวดังกล่าวมาตรวจสุขภาพและรักษา


ล่าสุดวันนี้ ( 11 พ.ค. 60) น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่ได้เข้าช่วยเหลือว่า ลิงตัวนี้เป็นลิงแสม เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำลิงแสมตัวดังกล่าวมาไว้ที่คลินิกสัตว์ป่า และชั่งน้ำหนักพบว่ามีน้ำหนัก 27 กิโลกรัม มีขนาดลำตัวที่ผิดปกติ มีลักษณะหน้าท้องเป็นก้อนขนาดใหญ่ (35 – 40 เซนติเมตร) เคลื่อนไหวช้า ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ทางเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้มีการประเมินสุขภาพลิงแสม คลำช่องท้องตรวจช่องท้องเบื้องต้น เก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาโรคติดต่อ ได้แก่ โรคเฮอร์ปี่ไวรัส  วัณโรค  ไวรัสตับอักเสบ มงคล่อเทียม และพยาธิในเม็ดเลือด  ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์

 


หลังจากนั้นวันที่ 28 เม.ย.ได้มีการวางยาสลบและนำลิงไปวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ด้วยการเอกซเรย์ช่องอกและช่องท้อง เพื่อตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติ ซึ่งผลวินิจฉัยจากฟิล์มเอกซเรย์ พบว่า มีสภาวะปอดอักเสบ และช่องท้องมีความผิดปกติ จึงมีการเก็บตัวอย่างเลือด และเซลส์เนื้อเยื่อไขมันบริเวณหน้าท้องไปตรวจ พบว่าเป็นเซลล์ไขมันปกติ ซึ่งเกิดจากสภาวะไขมันสะสมในช่องท้องและผนังช่องท้องที่มีมากจนเกินไป จนทำให้มีลักษณะหน้าท้องที่ยื่นออกมา และผลการตรวจค่าเลือดพบว่าค่าโคเลสเตอรอล ในกระแสเลือดมีค่าสูงเล็กน้อย ส่วนผลการตรวจโรคติดต่อ ยังคงรอผลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์


ส่วนแนวทางการรักษานั้นจะให้ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีสัตวแพทย์เป็นผู้ดูแล ตามเป็นกรณี ได้แก่ สภาวะปอดอักเสบ ทางสัตวแพทย์ได้ทำการฉีดยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน พบว่าสัตว์มีสภาวะร่างกายตรวจดูจากภายนอกปกติ ไม่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ


“สำหรับสภาวะน้ำหนักเกิน หรือ อ้วนเกินไป ทางสัตวแพทย์ได้ทำการปรับอาหารเพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนัก โดยให้อาหาร  วันละ 2 มื้อ มื้อละ 300 - 400 กรัม  ซึ่งอาหารจะประกอบด้วย ผักกาดขาว ผักบุ้งส่วนผลไม้ ประกอบด้วย ชมพู่ แก้วมังกร มะละกอ กล้วยน้ำว้า และอาหารจำพวกโปรตีน ประกอบด้วย ไข่ต้ม อกไก่ต้มชิ้นเล็ก หมูต้มชิ้นเล็ก และหนอนนกในส่วนของสูตรอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักนั้น ทางทีมสัตวแพทย์จะเน้นในเรื่องของการลดแป้งและน้ำตาล เน้นให้ทานอาหารที่มีปริมาณเยื่อใยสูง และเน้นโปรตีนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเป็นพลังงานของร่างกาย” ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยวิธีควบคุมอาหาร

 

ขอบคุณภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ