วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจ หลักเกณฑ์การพิจารณา ว่า ผู้ใช้บริการและผู้เผยแพร่เนื้อหา (คอนเท้นท์) ในยูทูปและเฟซบุ๊ก แบบไหนที่เข้าข่ายเป็น OTT และการเป็น OTT ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอะไรบ้าง

ย้อนความสักนิด เมื่อวันที่ 24 เม.ย.60 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 และเห็นสมควรกำหนดให้
“การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์”
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อธิบายว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้แบ่งลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.การให้บริการโครงข่าย 2.การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก 3.การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (กิจการที่ใช้คลื่นความถี่/กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่) 4.การให้บริการแบบประยุกต์
สำหรับ OTT เข้าข่ายอยู่ในส่วนที่ 3 คือ เป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ในกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งให้บริการผ่านดาวเทียม เคเบิล และ IPTV
ปัจจุบันกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ กสทช.แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1.บริการ (Sevice) จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 พ.ค.60 กสทช.ได้ออกใบอนุญาตบริการโทรทัศน์ฯ ไปแล้วจำนวน 589 ใบอนุญาต
2.โครงข่าย (Network) แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 2.1โครงข่ายสำหรับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยเฉพาะ และ 2.2 โครงข่ายสนับสนุนอื่นๆ เช่น ดาวเทียม ซึ่ง กสทช.ออกใบอนุญาตบริการโครงข่ายโทรทัศน์ ไปแล้วจำนวน 415 ใบอนุญาต
3.สิ่งอำนวยความาสะดวก (Facility) การใช้ร่วมกัน เช่น เสา สายอากาศ กสทช.ออกใบอนุญาตบริการโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกโทรทัศน์ฯ แล้วจำนวน 7 ใบอนุญาต
4.บริการประยุกต์ (Application) หรือ แอพพลิเคชั่น กสทช.ยังไม่เคยออกใบอนุญาต
ย้อนกลับมาเรื่อง ยูทูปเบอร์-เน็ตไอดอล แบบไหนเข้าข่าย OTT ประเด็นนี้ พันเอก ดร.นที กล่าวว่า นอกจาก OTT จะครอบคลุมถึงผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมเนื้อหา (คอนเท้นท์) เช่น Line TV , Netflix, Hulu, MonoMaxxx และ Holly Wood HDTV ที่ให้ผู้ติดตามหรือผู้ชมสามารถเลือกรับชมได้ในเวลาที่ต้องการแล้ว กลุ่มผู้ใช้งาน (User Generated Content) ในแพลตฟอร์มของสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และยูทูป ที่ใช้ระบบเชื่อมโยงไปยังกลุ่มผู้ติดตามผ่านทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ย้ำ! ว่ามีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในหลักล้านคนก็เข้าข่ายที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการและผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
พันเอก ดร.นที กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดว่า ยูทูปเบอร์ และเน็ตไอดอลในเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการตาม OTT แต่ในวันที่ 6-7 มิ.ย.นี้ ได้เชิญผู้ใช้บริการและผู้เผยแพร่เนื้อหาในยูทูปและเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไปมาหารือร่วมกัน เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา, สุทธิชัย หยุ่น, วู้ดดี้, เพจวีอาร์โซ (vrzo), เพจยูไลค์ (you like) คาดว่าจะมีประมาณ 50-100 คน
“ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป และอินสตาแกรม ทุกคนไม่ต้องเข้ามาอยู่ใน OTT โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาจากจำนวนผู้ติดตาม (Follower) ที่ต้องมีจำนวนมาก เพราะหมายความว่าทุกครั้งที่มีการนำเสนอเนื้อหาออกไปผู้ที่ติดตามจะได้เห็นเป็นประจำ โดยเกณฑ์การพิจารณานี้จะไม่ดูจากยอดวิว (View) เพราะเรื่องที่นำเสนออาจได้รับความสนใจเป็นครั้งคราว เช่น อุบัติเหตุที่มีคนเข้ามาดูเยอะ”
ส่วนผู้ใช้บริการยูทูปและเฟซบุ๊กที่จะเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการ ต้องมีผู้ติดตาม (Follower) จำนวนเท่าไหร่? จะได้ข้อสรุปภายในเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับคำถามที่ว่า ผู้ประกอบการวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงทั้งแบบใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่ เช่น ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีช่องรายการและเวลาในการนำเสนอรายการทางทีวี รวมทั้งมีช่องทางให้ดูย้อนหลังทางยูทูป กรณีนี้เข้าข่าย OTT หรือไม่ หรือต้องพิจารณาหลักเกณฑ์จากจำนวนผู้ติดตาม พันเอก ดร.นที กล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะให้เข้ามาอยู่ใน OTT โดยอัตโนมัติหรือไม่ และจะเข้ามาอยู่ใน OTT โดยไม่ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์จำนวนผู้ติดตามหรือไม่
ข้อดี-ข้อเสีย เมื่อมาอยู่ใน OTT
พันเอก ดร.นที กล่าวว่า ข้อดี การเข้ามาอยู่ใน OTT ของผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานยูทูปและเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการ คือ เมื่อถูกร้องเรียน ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ กสทช. ตามกฎระเบียบของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
ซึ่งมีขั้นตอน คือ ตักเตือน-ปรับ-พักใช้ใบอนุญาต-เพิกถอนใบอนุญาต
ส่วน ข้อเสีย ของการไม่เข้ามาอยู่ใน OTT คือ กสทช.สามารถสั่งระงับออกอากาศได้ทันทีตั้งแต่มีผู้ร้องเรียน เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ขณะที่ ผู้ใช้งานยูทูป อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการตาม OTT ก็จะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ควบคุมดูแล
ทั้งนี้ ตามแผนกำหนดการ กสทช.จะได้กรอบปฏิบัติเกี่ยวกับ OTT ในเดือน มิ.ย.60 และให้ผู้ที่เข้าข่าย OTT ปฏิบัติตามในเดือน ก.ค.60 โดยคาดว่าจะเห็นผลการดำเนินงานเรื่อง OTT ในเดือน ส.ค.60
สรุป ทำไม OTT ถึงเป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้