เปิดตำรา รู้ทันโรค ตอนที่ 3 “โรคน้ำกัดเท้า ภัยเงียบหน้าฝน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ณ ช่วงขณะนี้ กรุงเทพมหานครฯและทั่วทุกภาคในประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายๆแห่ง เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัวนั่นเอง และปัญหาฝนตกหนักนี้ ก็ทำให้บางพื้นที่เกิดปัญหา “น้ำท่วมขัง”

ปัญหาน้ำท่วมขัง นับว่าเป็นปัญหาที่ประชาชนทุกคนต่างมีโอกาสพบเจอไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม บางรายข้าวของเสียหาย บางรายถึงขั้นต้องย้ายออกจากพื้นที่ แต่สิ่งน่ากลัวอีกหนึ่งอย่างที่อยู่ใกล้ตัวและหลายคนมองข้ามคือการเดินลุยน้ำท่วม เพียงเพราะคิดว่า “เดินลุยน้ำท่วมเดี๋ยวเดียวไม่เป็นอะไรหรอก” แต่การกระทำดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต และหากเลี่ยงมันไม่ได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกันโรคดังกล่าวไปพร้อมๆกันใน “เปิดตำรา รู้ทันโรค” ตอน “โรคน้ำกัดเท้า”

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง บอกกับทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ถึงที่มาของ โรคน้ำกัดเท้า ว่า โรคน้ำกัดเท้าหรือโรคฮ่องกงฟุต คือ โรคผิวหนัง ที่เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้า ติดเชื้อรา เป็นโรคที่พบบ่อยในฤดูฝน พบในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยมากในผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น แต่พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยจากเท้าเปียกน้ำหรือจากการลุยน้ำ บ้านเราจึงเรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ในต่างประเทศโรคนี้มักจะเกิดกับนักกีฬา เลยมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โรคเท้านักกีฬา หรือแอท ลิทธ์ ฟูท

โรคน้ำกัดเท้าเกิดจาก ผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนพื้นที่เปียกชื้น จากการลุยน้ำท่วมขัง เชื้อราชนิดนี้ยังเป็นเชื้อราที่ติดต่อจากการใช้ของร่วมกัน เช่น รองเท้า ถุงเท้าที่ไม่สะอาด เชื้อราชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคกับผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ที่เล็บและที่ขาหนีบ

พญ.มิ่งขวัญ ยังระบุถึงอาการของโรคน้ำกัดเท้าที่พบบ่อย ว่า โรคน้ำกัดเท้ามักเกิดตามง่ามเท้า ซึ่งเกิดได้กับทุกง่ามเท้า โดยอาการที่พบบ่อยคือ ผิวหนังส่วนที่เกิดโรค จะมีอาการแห้งตกสะเก็ด แตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บ และคัน และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ ซึ่งเพิ่มการอักเสบบวม แดง ร้อน และอาจเกิดเป็นหนอง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้น

วิธีการรักษาโรคน้ำกัดเท้า ระยะแรกๆยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เนื่องจากยังไม่มีการติดเชื้อ หรืออาจจะทายาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ทาบริเวณที่เป็น วันละ3ครั้ง (ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ทำให้ระคายเคืองบริเวณที่ทา ควรหลีกเลี่ยงทาในบริเวณที่มีแผลเปิด) หรือไม่ก็ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์และยาฆ่าเชื้อ แต่หากอาการเรื้อรังและรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

โรคน้ำกัดเท้า รุนแรงและมีผลข้างเคียงหรือไม่? ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง บอกว่า โดยทั่วไปโรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่รักษา อาการอาจเรื้อรังเป็นเดือนหรือหลายเดือน ผลข้างเคียงจากโรคน้ำกัดเท้าคือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่แผล ซึ่งอาจส่งผลให้แผลมีการอักเสบมากขึ้นและเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ควรไปพบแพทย์ตอนไหน? พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ให้คำแนะนำว่า หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ หรือหากปวดแผลมาก คันมาก และบวมมาก รวมถึงแผลเป็นหนองมีไข้ร่วมด้วยโดยเฉพาะเมื่อมีไข้สูง หรือหากมีความกังวลในอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ไม่ควรเดินลุยน้ำที่เกิดจากการท่วมขัง ควรล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและทำให้เท้าแห้ง หลังจากเหยียบน้ำ โดยควรเน้นถูสบู่บริเวณง่ามเท้า และควรดูแลรักษาความสะอาดของรองเท้า ถุงเท้า ไม่ให้เปียกอับชื้น เพื่อไม่ให้เกิดโรคน้ำกัดเท้า”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ