ฟ้าผ่า ! ภัยร้ายฤดูฝน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกทั่วทุกภูมิภาคในประเทศแถมยังตกแทบทุกวัน หลายคนอาจชอบฝนเพราะชุ่มฉ่ำคลายร้อน แต่อีกด้านหนึ่งของฝนนั้นแฝงมาด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คืออันตรายจาก “ฟ้าผ่า”

ด้านข้อมูลจากกระทรวงสาธารสุขเผยสถิติการถูกฟ้าผ่าในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2558 จำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่ามี 154 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38 คน คิดเป็นร้อยละ 23.38 และเดือนที่คนถูกฟ้าผ่ามากที่สุดคือเดือนพฤษภาคม

จากสถิติชี้ให้เห็นว่า “ฟ้าผ่า” นั้น สามารถสร้างความอันตรายและความเสียหายได้อย่างรุนแรงต่อชีวิต แค่โดนฟ้าผ่าเพียงครั้งเดียว ก็สามารถพรากชีวิตเราหรือคนใกล้ชิดซึ่งอันเป็นที่รักของเราไปได้เลย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “ฟ้าผ่า” ให้มากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกันกันเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากฟ้าผ่ากันดีกว่า

พกโลหะติดตัวขณะฝนตก เสี่ยงโดนฟ้าผ่า

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา บอกกับผู้สื่อข่าว PPTV ว่า ฟ้าผ่านั้นเกิดจากเมฆฝนที่มีประจุไฟฟ้าอยู่ข้างใน ดังนั้นแนะนำว่าช่วงฝนตกไม่ควรอยู่ที่กลางแจ้ง และควรหลีกเลี่ยงพกอุปกรณ์ติดตัวที่เป็นโลหะทั้งหมด โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องใช้จอบและเสียม หรือบุคคลใส่เครื่องประดับโลหะ เช่น เงิน ทอง นาก  รวมถึงผู้ที่เล่นกีฬากลางแจ้งทุกประเภท มีโอกาสเสี่ยงโดนฟ้าผ่าสูงในช่วงที่ฝนตก แม้ตอนนี้ได้มีการติดระบบเตือนฟ้าผ่าไปบ้างแล้ว แต่ก็มีแค่ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเท่านั้น

โอกาสรอดชีวิตและวิธีช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่า

ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ และผู้เชี่ยวชาญวิจัย สวทช. ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว PPTV ว่า ฟ้าผ่าอาจทำอันตรายต่อคนหรือสัตว์ได้เป็นหลายรูปแบบ เช่น  อย่างแรก ฟ้าผ่าโดนตัวคนโดยตรง จะทำให้เสียชีวิตในทันที เนื่องจากปริมาณกระแสไฟฟ้าสูงมาก (ราว 10,000 แอมป์) ทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทนได้ แต่กรณีเช่นนี้เกิดยาก อย่างที่สอง กระแสไฟฟ้าสตรีมเมอร์ (streamer) ที่ไหลขึ้นมาจากพื้นผ่านลำตัว กรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับคนไทยมาแล้วอย่างน้อย 3 คนอย่างที่สาม  ฟ้าผ่าที่ตำแหน่งอื่น แต่คนได้รับกระแสไฟฟ้าผ่านทางกลไกต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าผ่าลงบนโครงสร้างที่มีตัวนำไฟฟ้าเชื่อมต่ออยู่ และคนไปสัมผัสตัวนำนั้น หรือ ฟ้าผ่าลงต้นไม้สูง โดยที่คนอยู่ใกล้ต้นไม้ ก็มีโอกาสมากที่จะได้รับกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย ถ้าหากปริมาณกระแสไฟฟ้าไม่มากนักก็จะทำให้บาดเจ็บ แต่หากปริมาณกระแสสูงมากก็จะทำให้เสียชีวิตได้

หลบใต้ต้นไม้เสี่ยงโดนฟ้าผ่าจริงหรือ ?

ในกรณีฟ้าผ่าต้นไม้ กระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะวิ่งลงตามลำต้น และอาจเข้าสู่คนได้ มี 3 กรณีย่อย คือกรณีที่หนึ่ง ร่างกายคนสัมผัสกับต้นไม้ จะทำให้กระแสไฟจะไหลจากต้นไม้เข้าสู่ตัวคนโดยตรง  กรณีที่สอง คนยืนอยู่ห่างจากต้นไม้ไม่มากนัก เช่น ไม่เกิน 2-3 เมตร กระแสไฟฟ้าก็สามารถกระโดดจากลำต้นเข้าสู่คนได้ เรียกว่า ไซด์แฟลช  (side flash)กรณีที่สาม คนอยู่ห่างจากต้นไม้ แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลลงมาถึงโคนต้น กระแสไฟฟ้าบางส่วนจะไหลลงไปในพื้นดิน แต่บางส่วนจะไหลแผ่กระจายออกไปโดยรอบบนผิวดิน ถ้าหากใครไปยืนคร่อมเส้นทางการไหลของกระแสไฟฟ้านั้น กระแสไฟฟ้าก็จะวิ่งเข้าร่างกายจะเท้าข้างหนึ่ง ผ่านลำตัว แล้วออกไปทางเท้าอีกข้างหนึ่ง กรณีนี้เรียกว่า กระแสไฟฟ้าไหลไปตามพื้น (ground current) จากสถิติพบว่า กรณีกระแสไฟฟ้าไหลไปตามพื้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำอันตรายคนและสัตว์ได้มากที่สุด โดยจุดที่ฟ้าผ่าอาจเป็นต้นไม้ พื้นดิน หรืออะไรก็ได้ที่อยู่ติดพื้น

วิธีเลี่ยงไม่ให้โดนฟ้าผ่า

การลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า คือ อย่าอยู่ในพื้นที่โล่ง และห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่  นอกจากนี้ควรหาที่ปลอดภัยหลบ เช่น อยู่ในอาคารและบ้านที่ปิดมิดชิด   หรืออยู่ในรถยนต์ที่ปิดกระจกสนิทแล้ว เป็นต้น ควรคำนึงถึงเสมอว่า ฟ้าผ่าอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ฝนไม่ตก เพราะหากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ในระยะราว 10 กิโลเมตร(หรือมากกว่านั้นในบางกรณี) มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้าผ่าได้เช่นกัน

แม้ฟ้าผ่าจะเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงและควบคุมมันได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองและพาตัวเองออกจากจุดเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่าได้ตามที่ได้อ่านมาข้างต้น

 

ขอบคุณภาพจาก : DramaGazip / VCHARARN . com

 

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ