เตรียมส่งสำนวนทุจริต “เงินทอน 12 วัด” ให้ ป.ป.ช.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. เตรียมส่งสำนวนคดีทุจริตเงินทอนวัด 12 แห่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเดินหน้าตรวจสอบอีก 508 วัด ที่มีข้อมูลว่าได้รับเงินสำนักพุทธฯ

หลังกำหนดขีดเส้นตายให้ผู้ต้องหาที่มีรายชื่อร่วมทุจริตเงินอุดหนุนวัด 12 แห่งในเข้ามอบตัวภายในวันที่ 16 มิถุนายน ล่าสุด พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการ ปปป. เปิดเผยกับ พีพีทีวีว่ามีผู้ต้องหา 4 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา คือ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ข้าราชการระดับ 8 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อหา กระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 157 และ เบียดเบียนของรัฐมาเป็นของตนและผู้อื่น  นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ์ อดีตนักวิชาการชำนาญ พศ. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าเข้าข่ายผิด มาตรา 157 หรือไม่ หากเป็นการกระทำในขณะที่ยังอยู่ในราชการ ก็จะโดนข้อหาเดียวกับนายวสวัตติ์  นายศิวโรจน์ ปิยะรัตน์เสรี อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อ จ.ลำปาง  และ นายฐานพัฒน์ ม่วงทอง มีความผิดฐานร่วมกระทำความผิดกับข้าราชการ

ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 คน ได้แก่ นางประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายนพรัตน์ เบญวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ  นางสุภัชชา จันฤาไชย และ นางสาวอุบล ดิษฐ์ด้วง ยังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และพบข้อมูลว่าอาจมีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มอีก 2 คน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อในตอนนี้

พ.ต.อ.แมน รัตนโมรา ผู้กำกับการสอบสวน ปปป. บอกว่า กำลังสรุปสำนวน ของทั้ง 12 วัด เตรียมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในวันพรุ่งนี้ เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดย ปปป.จะเดินหน้าตรวจสอบวัดอื่นที่เสนอโครงการขอเงินอุดหนุนในช่วงเวลาเดียวกันอีกกว่า 500 วัด เพราะพบข้อมูลเบาะแสบางอย่าง จึงเตรียมสืบสวนในเชิงลึกหาข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนตัวเลข 12 วัดที่พบความผิดปกติ เพิ่งมาจากกานสุ่มตรวจโครงการที่น่าสงสัยเพียง 33 วัดเท่านั้น จากกว่า 500 วัด

สำหรับรูปแบบการทุจริตเรียกรับเงินทอนจากวัดต่างๆ ที่ตรวจพบในครั้งนี้ มีหลายรูปแบบ จุดเริ่มต้นคือ มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าไปทำข้อตกลงกับเจ้าอาวาสวัด ที่อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ให้เขียนโครงการของบประมาณ โดยจะเป็นผู้กำหนดเงินให้ว่าต้องขอเกินกว่าจำนวนที่วัดต้องการใช้  เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอนุมัติและเงินโอนให้กับวัดแล้ว เจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่เข้ามาทำข้อตกลงในตอนแรก จะเรียกรับเงินคืน ส่วนอีกวิธีการหนึ่ง วัดจะไม่รู้เลยว่า ได้งบประมาณมาเท่าไหร่ เพราะมีแบบฟอร์มขอโครงการโดยไม่ระบุตัวเลขมาให้กรอก เพียงลงชื่อรับทราบว่าจะได้รับเงินส่วนหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งขบวนการนี้ทำให้ ปปป. ต้องตรวจสอบว่า เจ้าอาวาสวัดมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เพราะหากเทียบกับจำนวนเงินที่จ่ายเงินทอนคืนไปของแต่ละวัดมากกว่าร้อยละ 90 รวมไปถึงการของบงบประมาณเรียนพระปริยัติธรรม และกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตัวเลขเงินทอนจากวัด ที่ ปปป.เปิดเผยมา เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยรูปแบบการจ่ายเงินโครงการจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาที่วัด มีทั้งเงินสด และเงินโอนเข้าบัญชี ซึ่ง ปปป.พบการโอนเงินกลับจากวัด ไปยังบัญชีส่วนบุคคล ตามที่เปิดเผยข้อมูลไป

ส่วนที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 วัด ที่อยู่ใรบัญชีเงินทอน แหล่งข่าวใกล้ชิดเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง บอกกับ PPTV ว่า แม้จะมีผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ข้าราชการติดต่อเพื่อให้เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงชี้แจง แต่เจ้าอาวาสยังคงปฏิเสธ และไม่พร้อมคุยสื่อมวลชน โดยให้เหตุผลว่ารอชี้แจงตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ