กก.ประชาพิจารณ์บัตรทอง สรุป ปชช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยแก้ ก.ม.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระแสคัดค้านในเวทีรับฟังความเห็นแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นเหตุผลที่วันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาพยายามทำความเข้าใจอีกครั้งว่า ไม่มีเป้าหมายลดทอนสิทธิ์ประชาชนซ่อนอยู่อย่างที่ฝ่ายคัดค้านหยิบยก ขณะที่ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์แก้ไขกฎหมายบัตรทอง สรุปความเห็น 4 เวทีเบื้องต้นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แม้จะมีความชุลมุมและกระแสต่อต้านเกิดขึ้นทุกเวที

แม้จะมีความชุลมุมและกระแสต่อต้านเกิดขึ้นกับเวทีรับฟังความคิดเห็นแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.2545 ทั้ง 4 เวที ใน 4 ภูมิภาค แต่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และทำหน้าประธานคณะกรรมการจัดรับฟังความคิดเห็นสรุปผลจาก 4 เวทีว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายบัตรทอง เพื่อปรับปรุงคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และแก้ปัญหาให้กับโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในสภาพแบกรับภาระขาดทุนอย่างหนักในหลายแห่ง

ส่วนในรายละเอียดของการแก้ไขเนื้อหากฎหมายจะเป็นอย่างไร นพ.พลเดช เรียกร้องให้กลุ่มคัดค้านเข้าสู่กระบวนการเสนอความเห็น เพราะมองว่า การล้มเวทีไม่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง คือ การแบกรับภาระต้นทุนในส่วนที่สปสช.จ่ายเงินสนับสนุนให้ไม่ได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมาย และถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลหลักของการผลักดันแก้ไขกฎหมายรอบนี้  นพ.สกล สุขพรหม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะแม้ที่ผ่านมา สปสช.จะจ่ายงบอุดหนุนรายหัวของประชาชนให้กับโรงพยาบาลรายละประมาณ 3,109 บาท แต่เงินที่โรงพยาบาลได้รับจริงเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 หลังถูกหักค่าเงินเดือนพนักงานประกอบกับการหักเงินสมทบกองทุนย่อยที่ สปสช.ตั้งขึ้นมา ทำให้เงินที่รับได้อุดหนุนไม่สะท้อนต้นทุนจริงในการรักษา

สอดคล้องกับนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาย้ำอีกครั้งว่า การแก้กฎหมายบัตรทองครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาบริหารเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่การลดทอนสิทธิประชาชน  เพราะที่ผ่านมาการใช้จ่ายเงินในกองทุนฯ ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับเดิม จนส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งได้รับผลกระทบ

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายคัดค้านโดยเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มองว่า การปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ เอื้อประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุข เพราะมีเนื้อหาเพิ่มจำนวนตัวแทนของกระทรวงฯเข้าไปในบอร์ด สปสช. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า เพราะในทางปฏิบัติตัวแทนจากภาคส่วนอื่นก็ยังมีอยู่ในคณะกรรมการและสามารถถ่วงดุลอำนาจได้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ