สั่งปิดบ่อบำบัดฯ ซีพีเอฟ 30 วัน หลังพบเป็นพื้นที่เสี่ยง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การเสียชีวิตของนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพนักงานรวม 5 คน ภายในโรงงานของบริษัทซีพีเอฟ ยังคงถูกตั้งคำถามว่าเกิดจากสาเหตุใด ทำให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งปิดพื้นบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียชั่วคราว 30 วัน พร้อมระบุเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตเพิ่ม

เหตุเศร้าสลดที่เกิดขึ้นบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย ด้านหลัง บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ซอยบางนา 20 วานนี้ ยังต้องสอบสวนหาสาเหตุว่าเกิดจากความประมาทหรือความบกพร่องของบริษัท ที่ปล่อยให้เข้าไปบริเวณบ่อบำบัดฯ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันหรือแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันนี้ (24 มิ.ย.60) นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งให้ปิดบ่อบำบัดน้ำเสีย ชั่วคราว 30 วัน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบอย่างละเอียด ว่ามีสร้างผิดมาตรฐาน หรือวางระบบความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน หรือไม่ และขณะนี้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายสูง หากตรวจสอบพบว่าละเลยมาตรฐาน จะลงโทษตามขั้นตอนต่อไป และวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายนนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเชิญนายกสมาคมวิศวกรสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ด้านนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิบการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกสารแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนางสาวปัณฐิกา ผู้เสียชีวิต และจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวของนิสิตทุกทาง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเผยกับพีพีทีวีว่า สถานที่เกิดเหตุเป็น “พื้นที่อับอากาศ” ต้องเข้มงวดคนเข้า-ออก  เพราะมีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก โดยเฉพาะไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า เพราะแม้จะไม่ได้กลิ่น หรือ มองไม่เห็น  แต่ก็ทำให้ผู้สูดดมเข้าไป หมดสติได้

หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานใน “พื้นที่อับอากาศ” หรือ “บ่อบำบัดน้ำเสีย”

เช็คค่าอากาศให้รอบคอบและรัดกุม

-วัดค่าออกซิเจน

-วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์

-วัดค่าการจุดติดระเบิด

-วัดค่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ “ก๊าซไข่เน่า” อันตรายที่สุด ไร้สี ไร้กลิ่น “เสี่ยงหมดสติ”

และผู้เข้าไปในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย ต้องตรวจค่าอากาศ วัดค่าออกซิเจน ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะค่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า

ขั้นตอนวางระบบเซฟตี้ในโรงงานอุตสาหกรรม

1. ผู้อนุมัติ หมายถึง นายจ้าง ต้องรับรู้ว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ

2. ผู้ควบคุม คนนี้จะคอยคุมงาน ตรวจสอบสภาพอากาศในจุดอันตราย (อาจจะทุก 5 นาที) จนกว่าจบงาน

3. หน่วยกู้ภัยของโรงงาน เตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตปากทางเข้าพื้นที่อับอากาศ

4. ผู้ปฏิบัติงาน คนงานที่เข้าไปทำงาน ต้องใส่ชุดป้องกัน ใส่เครื่องช่วยหายใจ

บุคคลที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยในโรงงานที่มีบ่อบำบัดน้ำเสียมี 4 กลุ่มคือ ผู้อนุมัติ / ผู้ควบคุม / ผู้ช่วยเหลือ / และ ผู้ปฏิบัติงาน ทั้ง 4 กลุ่ม ต้องทำงานประสานกัน “ผู้ควบคุม” ต้องคอยคุมงานวัดค่าอากาศต่างๆ ทุก 5 นาที  “ผู้ช่วยเหลือ” ทำหน้าที่คล้าย “หน่วยกู้ภัย” และทุกคนต้องสวมชุดป้องกันและใส่เครื่องช่วยหายใจ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ