อำนาจ ม.44 เบ็ดเสร็จกว่า 2 ปี 150 คำสั่ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรา 44 หรือ ม.44 คืออะไร คงต้องย้อนเวลากลับไปสู่การรัฐประหาร ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะมาตรา 44 หรือมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557

ส่งผลให้หลายฝ่ายต้องจับตาเป็นพิเศษ ที่เปรียบเหมือนเป็นคำสั่งเด็ดขาด เพราะมีหลักการว่า กรณีที่หัวหน้า คสช.เห็นเป็นการจําเป็นอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ เรียกได้ว่าเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกอย่าง โดยได้มีคำสั่ง ม.44 ออกมาแล้ว 150 คำสั่ง

แก้ปัญหาขายลอตเตอรี่เกินราคา

และครั้งนี้ ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ขอนำเสนอ 10 คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ทำให้หลายคนต้องนึกถึง ประกอบด้วย วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ กำหนดโทษให้ผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บัญชาการทหารบกหรือแม่ทัพภาคมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด

ปราบปรามแข่งรถยนต์-รถจักรยานยนต์

วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามการรวมกลุ่มกันในพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ บิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนไม่ให้บุตรร่วมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถ หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดให้เรียกบิดามารดามารับทราบ และหากมีการกระทำผิดซ้ำ บิดามารดามีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามการแต่งรถในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถ ฯลฯ

ยศตํารวจ “ทักษิณ ชินวัตร”

วันที่ 5 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 26/2558 ให้ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษา และความผิดอื่นอีกหลายฐาน

 

คุ้มครองคณะทํางานจัดการจำนำข้าว

30 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 เรื่อง เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่ดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57  ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม โดยบุคคลข้างต้นดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

เด้ง “สุขุมพันธุ์” พ้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

18 ตุลาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตําแหน่งรวมถึงให้ผู้ดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ พ้นจากตําแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินสี่คนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง

ล้อมคอกตำรวจซื้อขายตำแหน่ง

20 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง มีเนื้อหาว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งเริ่มจากให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบังคับการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจระดับกองบังคับการ เพื่อทําหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ แล้วเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการเพื่อดําเนินการ แล้วเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมี รอง ผบ.ตร. เป็นคณะร่วมพิจารณา

ควบคุมพื้นที่ “วัดพระธรรมกาย”

16 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งที่ 5/2560 เรื่อง กำหนดให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดในอำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี คือ พื้นที่หมู่ 7 ถึง 13 ตำบอลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 ถึง 11 ในตำบลคลองสามเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การบังคับใช้กฏหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยระบุถึงเหตุผลว่า ที่ผ่านมามีบุคคลบางกลุ่มซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าทำผิดกฏหมาย และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนรวมถึงฝ่ายปกครองและตำรวจ ตลอดจนขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ยังได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานดำนเนินการต่าง ๆ ภายในพื้นที่ควบคุม หากผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แก้ไขกฎหมายจราจรคาดเข็มขัด-จ่ายค่าปรับ

21 มีนาคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง 4 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งที่ 14/2560 เรื่องมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก  เป็นการแก้ไข พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยเพิ่ม 1.ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลดังกล่าว มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายรถที่จอดในที่ห้ามจอด ล็อกล้อ โดยไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นการไม่ได้จงใจ 2.บังคับให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และ 3.กรมขนส่งจะไม่ต่อทะเบียนให้รถคันที่ไม่จ่ายค่าปรับหรือจ่ายค่าปรับไม่ครบ

จำกัดรถตู้โดยสารมีที่นั่งไม่เกิน 13 ที่นั่ง

ขณะที่ คำสั่งที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถตู้สาธารณะ มีคำสั่งให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรถประจำทางและไม่ประจำทาง คือ 1.รถตู้โดยสารมีที่นั่งไม่เกิน 13 ที่นั่ง 2.ต้องมีการปรับปรุงหรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารรถตู้ เช่น การปรับพนักพิงเบาะหลังให้เป็นทางออกฉุกเฉิน 3.การติดตั้งบรรจุก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซปิโตรเลียมต้องไม่ทำให้น้ำหนักรวมเกินสมรรถนะของรถ และกำหนดการเพิกถอนใบอนุญาตหรือพักใบอนุญาต 6 เดือน ถ้าหากรถเกิดอุบติเหตุจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด ขับรถเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาท หรือนำรถไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ขนยาเสพติด เก็บค่าโดยสารเกิน บรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือทอดทิ้งผู้โดยสาร

ยืดเวลาบังคับใช้โทษ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

4 กรกฎาคม 2560 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งที่ 60/2560 เรื่อง  มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว มีเนื้อหาว่า ให้มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกําหนด (พรก.) การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป, ให้นายจ้างและคนต่างด้าวเร่งดําเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตามกฎหมายหรือคําสั่งนี้ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ

สิ่งที่เกิดขี้นกับการนำอำนาจตามมาตรา 44 ล้วนเป็นการเร่งรัดและแก้ไขปัญหาสารพัด ทำให้ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.57 ถึงปัจจุบัน มาตรา 44 ถูกนำมาใช้แล้วกว่า 150 คำสั่ง เพราะถือเป็นคำสั่งที่รวบรัดขั้นตอนต่าง ๆ โดยเร็ว เพื่อให้สิ่งที่ติดขัดเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนยศ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  หรือการแก้ปัญหาการบริหารงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับนโยบายและให้ทันกับสถานการณ์ ทั้งแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา กฎหมายทางจราจร เช่น การกำหนดให้รัดเข็มขัดนิรภัย จำกัดที่นั่งรถตู้ 13 หรือคำสั่งล่าสุด  ยืดเวลาบังคับใช้โทษ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีคำสั่งฉบับใดออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คงต้องจับตา...

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ