มือปราบอสรพิษแนะวิธีรับมือ “บ้านที่งูโผล่จากชักโครก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจ้าของบ้านรายหนึ่งย่านตลิ่งชันได้พบงูเหลือมในชักโครกหลังจากเข้าไปทำธุระในห้องน้ำตามปกติ ก่อนจะโดนงูเหลือมความยาวกว่า 2 เมตรครึ่งกัดที่โคนขา ก่อนที่ 5 วันถัดมาจะเจองูเหลือมอีกหนึ่งตัวแต่ยังไม่สามารถจะจับได้ เหตุการณ์งูโผล่ขึ้นมาตามชักโครกเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์วันนี้มือปราบอสรพิษได้แนะนำวิธีรับมือหากต้องเผชิญหน้างูที่โผล่ออกมาจากจุดต่างๆภายในบ้าน  

จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ กทม. และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจับงู เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวว่า สำหรับใต้บ้านในกรุงเทพมหานครกว่า 80เปอร์เซ็นต์เป็นโพรงที่เป็นเส้นทางให้งูวิ่งเข้าวิ่งออกได้ สำหรับจุดที่เจองูบ่อยๆ คือ การปีนข้ามกำแพง งูเหลือมบางตัวสามารถปีนกำแพงได้สูงราวๆ 3 เมตร แล้วเข้าไปหลบในโพรงเพื่อพักก่อนที่จะออกมาหากิน ซึ่งอาจเป็นจุดที่มีสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ในห่วงโซ่อาหารของพวกเขาอยู่ ส่วนอีกจุดที่พื้นทรุดตัวก็อาจจะเป็นจุดที่งูเข้ามาหลบซ่อนได้ บางทีงูหลบเข้าแล้ว เวลาไปจับงูหากเป็นโพรงที่ไม่ลึกมากก็จะใช้น้ำมันเบนซินจะทดสอบว่าข้างล่างมันมีที่มากน้อยแค่ไหนในการสัมผัส เพราะค่าความร้อนในเรื่องของกลิ่นจะทำให้งูออกมา แต่บางทีงูเหลือมก็ดื้อไม่ยอมออกมาก็มี

“เมื่อเผชิญหน้ากับงูอย่างแรก คือ อย่าไปยุ่ง อย่าไปกวน เพราะจะทำให้งูหนี ตามนิสัยแล้วงูไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายคน แต่ที่ทำร้ายเพราะป้องกันตัว เมื่อเจอให้ห่างๆเอาไว้ จากนั้นตั้งสติ และให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย จากนั้นถ่ายรูปไกลๆ จะสามารถบ่งบอกว่ามีพิษไม่มีพิษ เมื่อโทรมาที่ศูนย์สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ พวกงูเหลือมเหล่านี้จะขดรอเหยื่ออยู่ตามกำแพงบ้าน ขื่อบ้าน หรือขึ้นมาบนชักโครกเพื่อจะมารอเจออาหาร แต่มาเจอคนจะเข้าห้องน้ำ เมื่อไม่ทันระวังเขาก็โจมตีเข้าที่ขา ก่อนเข้าห้องน้ำต้องคอยสังเกต ไฟต้องสว่าง และกวาดสายตาให้ทั่วห้องน้ำ แต่ไม่ต้องวิตก บางทีงูก็ไม่ได้เข้ามาจากชักโครกอย่างเดียว แต่มาจากพัดลมระบายอากาศก็มี เวลาไม่ได้ใช้เขาก็สวนขึ้นมาได้ หรือช่องบานเกล็ดก็สวนเข้ามาได้ก็จะมาแอบอยู่ในห้องน้ำด้วย”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจับงู เปิดเผยว่า ช่วงหน้าฝนก็มีส่วนที่ทำให้เจอเยอะ และอีกกรณีหนึ่งคือมีการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาโดนบุกรุกพื้นที่ พื้นที่เก่าอาจจะเป็นที่อยู่อาศัยเก่าของเขา และเมื่อมีการสร้างหมู่บ้าน ส่วนใหญ่มักจะเจอกับบ้านทรุด เมื่อผู้ประกอบการรีบถมที่ไม่กี่ปีถัดมาบ้านก็ทรุดตัวลง พอทรุดก็จะกลายเป็นที่โพรงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของงู ตัวเงินตัวทอง นี่คือปัญหาส่วนหนึ่ง วิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันได้คือ ควรนำลวดที่เป็นตาข่ายมาปิดที่ท่อทุกส่วน แม้กระทั่งท่อห้องน้ำ ส่วนวิธีการป้องกันจริงๆควรจะขุดรอบบ้านแล้วสร้างปูนต่อลงไปจากนั้นเทปูนเพื่อปิดโพรงในพื้นดินให้ลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ปิดโพรงให้รอบเพื่อป้องกันระยะยาว

“นอกจากท่อน้ำแล้วก็มี ท่อแอร์ก็พบอยู่บ่อยครั้งที่จะเจองูเข้าไปจะเป็นงูที่เรียกว่า งูเขียวพระอินทร์ ซึ่งเป็นงูพิษอ่อนแต่ไม่อันตรายถ้าเป็นคอนโดฯ ความสูง 3 ชั้นขึ้นไป เคยเจอสูงสุดบนชั้น 15 มักจะพบเพราะพวกนี้ขึ้นไปตามต้นไม้ และข้อแนะนำใน หากบ้านไหนมีแอร์ก็จะมีท่อแอร์ที่เป็นท่อน้ำทิ้ง เวลาเราพักแอร์หากไม่หาลวดมารัด งูก็จะสวนขึ้นไปในแอร์ที่อยู่ตามห้องเมื่อเปิดแอร์งูก็จะออกมาได้เช่นกัน” 

จ.ส.ต.ภิญโญ บอกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นงูเหลือมเป็นงูที่ไม่มีพิษ แต่ฟันคม ฟันคล้ายๆเบ็ด เมื่อเขาโจมตี มีการกระชากแผลจะค่อนข้างฉีกขาด และแพทย์จะดูแลเป็นพิเศษเพราะปากเขามีแบคทีเรีย เมื่อโดนงูกัดให้สันนิษฐานว่างูมีพิษไว้ก่อน ถ้าโดนกัดที่แขนล้างแผลให้สะอาด หยุดการเคลื่อนไหวบริเวณแขน เพราะการเคลื่อนไหว ยืดหดกล้ามเนื้อมันยิ่งทำให้พิษงู เข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น และรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่ต้องคำนวนเวลาการไปด้วย หรือจะใช้วิธีขันชะเนาะเพื่อไม่ให้พิษแล่นเข้าสู่หัวใจ แต่ก็จะมีผลเสียตามมา คือเลือดไม่เลี้ยงอวัยวะ ทำให้เนื้อตาย ส่วนในกรณีที่เดินทางไกลเราจะใช้วิธีรัดดามที่เหมือนเข้าเฝือกมากกว่า



“อีกหนึ่งกรณีที่หลายคนมีความเชื่อว่างูกัดจะต้องตีงู แล้วเอางูหาหมอให้ได้ เรื่องนี้คุณหมอได้ฝากมาว่าไม่จำเป็น เพราะคุณหมอจะมีวิธีแยกแยะชนิดของกลุ่มพิษงูได้จากอาการ บางทีมัวแต่ไปไล่จับงูแต่ไปเจองูอีกชนิดหนึ่งก็อาจจะกลายเป็นเรื่องแย่ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจับงู แนะนำ

ขณะที่ ธนะศักดิ์ หมัดลัง เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติการ สถานีดับเพลิงสุทธิสาร บอกว่า ส่วนใหญ่ที่ออกไปจับตามบ้านในช่วงฤดูฝนนี้ก็จะเป็นงูเหลือมเป็นส่วนใหญ่จะเจอตามบ้าน ล่าสุดที่จับได้เป็นงูเหลือมความยาวกว่า 3 เมตร ซึ่งพวกนี้มักจะอยู่ตามบ้านที่มีพื้นที่รก มีแหล่งอาหาร พวกนี้ก็จะไปแอบโพรง หรือตามฝ้าเพดานต่างๆ ซึ่งชาวบ้านบางรายเห็นเพดานฝ้ามันแอ่นๆ เหมือนรับน้ำหนักไม่ไหว ก็สามารถแจ้งให้เราไปตรวจสอบเพื่อความสบายใจได้

สำหรับสถิติของกรุงเทพมหานคร มักจะพบงูเหลือมในกรุงเทพมหานคร เป็นงูที่พบได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะงูเหลือมเป็นงูที่ออกไข่ได้ 30 -50 ฟองภายในหนึ่งปี และเป็นอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารซึ่งปริมาณมักจะไม่ค่อยลดลง เพราะไม่มีใครล่า และเมื่อมองว่างูเหลือมไม่มีพิษ ช่วยกินหนู แต่ระยะหลังปริมาณของงูเหลือมเพิ่มขึ้นมาก ระยะหลังที่พบก็จะเป็นงูเหลือมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนงูชนิดอื่นๆอีก 25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นงูเห่า งูสิง งูทางมะพร้าว งูแสงอาทิตย์ เป็นงูพื้นฐานทั่วไป  ขณะที่ 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นงูต่างถิ่น เช่นงูหลาม และหากประชาชนที่พบงูเข้าบ้านสามารถแจ้งเหตุงูเข้าบ้าน โทรสายด่วนหมายเลข 199

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ