วิกฤตแรงศรัทธาลดลงของผู้นำญี่ปุ่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตกที่นั่งลำบากแล้วหลังข้อหาเอื้อประโยชน์พรรคพวกฉุดให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นหมดความเชื่อมั่นในตัวเขาและรัฐบาล แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ หากมรสุมการเมืองครั้งนี้สั่นคลอนถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ญี่ปุ่นอาจจะเจอกับทางตัน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดยสำนักข่าว ANN News ของญี่ปุ่น วันนี้ เผยให้เห็นว่า คะแนนความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  ถือเป็นครั้งแรกที่คะแนนความนิยมของผู้นำญี่ปุ่นตกต่ำขนาดนี้ นับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2012  โดยคะแนนนิยมคณะรัฐมนตรีอาเบะที่ตกต่ำลงครั้งล่าสุดนี้ สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมที่ขยายบทลงโทษไปถึงผู้ที่คิดวางแผนจะก่อเหตุอาชญากรรม ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาที่ว่านายกฯ อาเบะ เอื้อประโยชน์พรรคพวกของตัวเอง โดยช่วยเดินเรื่องให้สถาบันวิทยาศาสตร์โอกายาม่า ของนายโคทาโร คาเกะ เพื่อนสนิท ได้รับเลือกให้เปิดคณะสัตวแพทย์ในเขตอิสระพิเศษในจังหวัดเอฮิเมะที่จัดตั้งโดยรัฐบาล  แม้รัฐบาลและตัวนายอาเบะจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ก็ไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้  เพราะข้อกล่าวหาแทรกแซงการบริหารนั้นไม่ต่างจากการทุจริตหรือว่าฉ้อโกงในภาครัฐ

โดยผลสำรวจความคิดเห็นจากสำนักข่าวเกียวโด นิวส์ เมื่อวานนี้ ระบุว่าประชาชน 77.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่เชื่อคำพูดของรัฐบาล ส่วนประชาชนที่พอใจกับคำอธิบายของรัฐบาลนั้นมีเพียงแค่ 15.4 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งวิกฤตความเชื่อมั่นของรัฐบาลอาเบะครั้งนี้ ยังไปซ้ำเติมแผลเก่า ข่าวอื้อฉาวของนางอากิเอะ อาเบะ ภรรยาของนายอาเบะ ที่ไปมอบเงินบริจาค 1 ล้านเยนให้กับโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งอย่างลับๆ

ด้านความมั่นคง คณะรัฐมนตรีนายอาเบะเองก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบทบาทของกองทัพ  ภายใต้เงื่อนไขในฐานะผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองทัพได้ โดยจะมีได้เพียงกองกำลังป้องกันตนเองเท่านั้น แต่เมื่อปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีของนายอาเบะ ก็เดินหน้าได้แก้ไขรัฐธรรมนูญทำลายข้อจำกัดนี้ เปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถส่งทหารไปสู้รบต่างแดนได้ ซึ่งประชาชนชาวญี่ปุ่นหวั่นเกรงว่าท่าทีนี้จะเปิดทางให้กองกำลังป้องกันตนเองจะถูกสหรัฐฯ ดึงไปสู้รบในสงครามต่างแดน

แต่อีกปัจจัยสำคัญที่จะทำลายเสถียรภาพของอำนาจรัฐญี่ปุ่นได้ ก็คือนโยบายเศรษฐกิจ อาเบะโนมิกส์ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายของรัฐบาลนายอาเบะ เพราะถ้านักลงทุนหมดความเชื่อมั่นกับนโยบายนี้เมื่อไร ถึงตอนนั้นรัฐบาลอะไรที่จะต่อชีวิตได้อีกต่อไป   ซึ่งตอนนี้นักลงทุนก็ยังจับตาอยู่อย่างใกล้ชิด  เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นตอนนี้แม้ว่ากระเตื้องขึ้นแต่ก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากข้อตกลงทีพีพีเองซึ่งรัฐบาลฝากความหวังไว้มาก ตอนนี้ก็เป็นโมฆะไปหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พยายามแก้ลำโดยประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเดือนหน้า แต่น่าสงสัยว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้แค่ไหน เพราะประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการปรับคณะรัฐมนตรีของนายอาเบะแล้ว  เนื่องจากสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเอือมระอาที่สุดก็คือตัวผู้นำนั่นเอง

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ