นักวิทย์แก้ไขยีนก่อโรคในตัวอ่อนมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการแก้ไขและดัดแปลงยีนก่อโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ ในตัวอ่อนมนุษย์ (เอ็มบริโอ) เพิ่มโอกาสในการลดการเกิดโรคทางพันธุกรรมได้ในอนาคต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์รัฐโอเรกอนและ สถาบันซอลค์ (Salk) จากสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์พื้นฐานของเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการสร้างตัวอ่อนมนุษย์ หรือ เอ็มบริโอ ที่ปลอดจากยีนซึ่งก่อให้เกิดโรคพันธุกรรมเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

การทดลองครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด ที่อาจนำไปสู่อาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยโรคนี้เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีอัตราผู้ป่วยอยู่ที่ 1 คน ต่อประชากร 500 คน

ทีมนักวิจัยใช้วิธีฉีดอสุจิของผู้ชายที่เป็นพาหะของโรคดังกล่าว เข้าไปยังไข่ที่ได้รับบริจาค ก่อนใช้เทคโนโลยีปรับแต่งพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์ (เอ็มบริโอ) ที่เรียกว่า คริสเปอร์ (Crispr) ซึ่งเป็นการตัดต่อพันธุกรรมแบบดึงเอายีนเก่าที่ก่อโรคออกมา แล้วนำยีนใหม่ที่เป็นยีนปกติเข้าไปทดแทน

สำหรับเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมแบบ คริสเปอร์ (Crispr) ถูกใช้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเมื่อปี 2015 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน อย่างไรก็ตาม “ฮวน คาร์ลอส เบลมอนเต” หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า การตัดแต่งยีนในเอ็มบริโอครั้งนี้ถือว่ามีความปลอดภัย แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา

แม้ว่าความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ และอาจเป็นกุญแจไปสู่การป้องกันไม่ให้โรคทางพันธุกรรม อาทิ โรคมะเร็ง ถูกส่งต่อไปยังมนุษย์รุ่นถัดไปได้ แต่ก็ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ทั้งในทางปฏิบัติและในแง่จริยธรรม

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ