กรมการขนส่งทางบก เชื่อจัดระเบียบรถเมล์ใหม่แก้รถติดได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนวคิดปฎิรูปเส้นทางรถเมล์รูปแบบใหม่ และ เปลี่ยนป้ายบอกทางใช้ภาษาอังกฤษ ของกรมการขนส่งทางบก มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเตรียมเชื่อมโยงการเดินทางในอนาคต เชื่อว่าหากการเดินทางทั้งหมดสร้างเสร็จจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร

เส้นทางวิ่งของรถเมล์รูปแบบใหม่ จะถูกกำหนด ออกเป็น 4 โซน ตามเขตการเดินรถ คือ สีเขียว ย่านรังสิต บางเขต มีนบุรี  สีเหลือง วิ่งรถในย่าน พระประแดง พระราม2 บางแค ศาลายา  สีแดง ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์ และ สีน้ำเงิน วิ่งรถในย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต ดินแดง และ สวนสยาม โดยรถเมล์แต่ละคัน จะถูกกำหนด ตัวอักษรภาษาขึ้นต้น ตามสีและเขตที่วิ่ง คือ G, Y, R, และ B และตามด้วยหมายเลขรถ  ส่วนสีของรถเมล์ จะถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดตาม เขตการเดินรถ การกำหนดเช่นนี้ กรมการขนส่งทางบก เชื่อว่าจะทำให้การวิ่งรถไม่ทับซ้อนกัน และจะมีรถเมล์วิ่งในทุกเส้นทางทั่วกรุงเทพมหานคร


ตัวอย่างของป้ายบอกเส้นทางรถเมล์ใหม่ที่จะถูกเปลี่ยน ทั้งหมด 269 เส้นทาง จะถูกกำหนด ตามนี้ เช่น สาย 29 เดิม วิ่งเส้นทาง รังสิต – หัวลำโพง จะถูกเปลี่ยนเป็น G1 กำหนดมาจาก การวิ่งรถในเขตการเดินรถสีเขียว คือ ตัว G และ ส่วนเลข 1 เป็นลำดับของรถในโซนนี้  แต่หากมี อักษรภาษาอังกฤษ E ตามท้าย เช่น G1E นั้นหมายความว่า รถคันนี้จะขึ้นทางด่วน

นายสนิท พรหมวงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า การจัดระบบรถเมล์รูปแบบใหม่นี้ เป็นหนึ่งในของแผนการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ ที่พยายามทำให้ รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการขนส่งทางบกยอมรับว่า การจัดระบบเส้นทางรูปแบบใหม่ ในช่วงแรกประชาชนอาจสับสน  2 ปีแรกจึง จะยังติดป้ายเดิน ควบคู่ไปด้วย เชื่อว่าอนาคตประชาชนจะสามารถจดจำป้ายบอกทางรูปแบบใหม่ได้

ด้าน รศ.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหา การวิ่งทับซ้อนเส้นทางรถเมล์ ช่วยลดปัญหาระยะเวลาของการรถรถเมล์ให้ไว้ขึ้นกว่าเดิม ส่วนการเปลี่ยนตัวเลขป้ายบอกทาง นำตัวอักษรภาษาอังกฤษมาใช้ ถือเป็นระบบสากล ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ กรณีนี้นักวิชาการเชื่อว่า ไม่น่าส่งผลกระทบกับการเดินทางของคนที่ใช้รถเมล์เป็นประจำ

แต่หากมองในประเด็นการแก้ไขปัญหารถติดในกรุงเทพฯ รศ.พนิต วิเคราะห์ว่า อาจทำได้ยาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายระบบรางของประเทศไทย มีราคาสูงเกินกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจะใช้บริการ และหากนำมาคิดค่าเดินทางในแต่ละวัน ที่ต้องเดินทางหลายต่อ เชื่อว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวจะคุ้มค่ากว่า 

 

ลงทะเบียนดูบอลออนไลน์ฟรี PPTV HD 36

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ