กว่าจะเป็น...สารตั้งต้น ตอน “ER ห้องฉุกเฉิน” !!
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
4 ชีวิตกับภารกิจที่แสนจะกดดัน ...การทำงานภายใต้ข้อจำกัดรอบด้าน
ถ้าใครเคยได้ดูภาพยนตร์ เรื่อง “ER ห้องฉุกเฉิน” รายการ สารตั้งต้น ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ตอน ER ห้องฉุกเฉิน คือ เหตุการณ์จริงที่ไม่เหมือนในภาพยนตร์ ตรงที่ ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง !!
การเล่าเรื่องความเป็นความตายของผู้คน ที่เข้ามายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐ ถูกผลิตจากทีมงาน 4 ชีวิต “นก” ปิติพร เพรามธุรส ผู้สื่อข่าวของทีม “แต๋ง” ภูริลาภ ลิ้มมนตรี โปรดิวเซอร์ และ ช่างภาพ “2 จุฟ” กัสกร ประดับมุข, ปสุต วงศ์กำแหง ซึ่งได้รับโจทย์ว่า ให้ผลิตสารคดีเชิงข่าว “สะท้อนการทำงานของแพทย์ พยาบาล ห้องฉุกเฉิน” หลังเกิดกรณีมีผู้ป่วยไปรอที่ห้องฉุกเฉินนานจนเสียชีวิต เพื่อตีแผ่ความจริงที่หลายคนไม่ได้สัมผัส
“นก ปิติพร ” เป็นผู้ติดต่อโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะขอให้ทีมงานเข้าไปถ่ายทำและเก็บเรื่องราวการทำงานของแพทย์ – พยาบาล ภายในห้องฉุกเฉินมานำเสนอ ซึ่งเธอยอมรับว่า งานชิ้นนี้การติดต่อแหล่งข่าวเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องบันทึกภาพและเรื่องราวของแพทย์พยาบาล ซึ่งมีมุมละเอียดอ่อน โดยเฉพาะสิทธิของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และวิธีการรักษา
แต่ด้วยความตั้งใจจะทำภารกิจให้สำเร็จ เธอจึงเริ่มติดต่อ โรงพยาบาลแรก นั่นคือ “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี” ทีมงานใช้เวลากับโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เพียง 1 วัน เนื่องจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่อยู่ ทางเจ้าหน้าที่จึงไม่อนุญาตให้ถ่ายทำต่อ
โรงพยาบาลที่สอง คือ เป้าหมายต่อมา...ทีมงานติดต่อไปที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ที่นี่ผู้อำนวยโรงพยาบาล อนุญาตให้ทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อเข้าไปถ่ายทำจริง แพทย์เวรในห้องฉุกเฉิน กังวลสิทธิผู้ป่วยจึงให้ขอญาติผู้ป่วยเอง แม้จะพยายามอธิบายเหตุผลและความตั้งใจที่จะมาทำงานเพื่อสะท้อนความจริงแต่ก็ไม่เป็นผล จึงต้องเก็บของออกจากโรงพยาบาลที่สอง
“ยอมรับว่าท้อมาก อยากเลิกแล้วทำไมมันยากจัง แต่ก็ทำหนังสือติดต่อไปอีก 6 – 7 โรงพยาบาล จนมาได้ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แต่มีเรื่องตลกคือ ตอนแรกจะติดต่อ โรงพยาบามหาราชนครศรีธรรมราช แต่ด้วยความเบลอ นกพิมพ์กูเกิ้ลเป็นโรงพยาบาลมมหาราชนครราชสีมา แล้วก็ทำหนังสือส่งแฟกซ์ไปเรียบร้อย จนโรงพยาบาลตอบรับกลับมา ถึงเห็นว่า อ้าว ไม่ใช่โรงพยาบาลที่เราตั้งใจไปตอนแรกนี่ แต่เราก็โชคดีมากที่ได้ไปที่นั่น เพราะเป็นโรงพยาบาลที่ฝึกปฏิบัติของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แล้วได้ถ่ายทำ ได้งานที่นี่มากที่สุด”
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลสุดท้ายที่ตอบรับทีมงานหลังจากติดต่อไปอีกกว่า 7 โรงพยาบาล “นก” เล่าว่า ตอนแรกเธอตั้งใจจะติดต่อไปที่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช แต่เพราะอาการเบลอ เลยค้นหาเบอร์โทรศัพท์และทำหนังสือส่งแฟกซ์ไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แต่ความโชคดีก็เกิดขึ้น เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นศูนย์ฝึกแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่ต้องอยู่ประจำในห้องฉุกเฉิน และเป็น ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ทำให้ที่นี่ ทีมงานได้งานที่เป็นเนื้อเป็นน้ำมากที่สุด 4 วันเต็ม
“แต๋ง ภูริลาภ” โปรดิวเซอร์ของทีม เล่าว่า เราวางแผนสารคดีชิ้นนี้โดยเริ่มจากการดูมุมกล้อง และการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ เพราะต้องทำงาน โดยเฉพาะภาพการนำเสนอต้องใช้ความระมัดระวังมาก พอไปถึงโรงพยาบาล เราจะศึกษาเส้นทาง ขั้นตอนการทำงานของแพทย์ พยาบาล อย่างเข้าใจ เพื่อไม่ให้การทำงานของเราไปขวางการทำงานของแพทย์ พยาบาล หรือ กระทบ ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งมุมกล้อง เนื่องจาก ใช้กล้อง 2 ตัว ต้องวางแผนเพื่อให้ได้ภาพ และไม่ทับกัน แต่สำคัญที่สุด คือ งานชิ้นนี้ต้องไม่เห็นหน้าผู้ป่วย เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการผลิต
“เมื่อไปถึงโคราช ทีมงานไปไหว้ย่าโมทุกวัน แล้วคงมีใครบอกว่า ขอให้ทุกคนปลอดภัย ซึ่งการถ่ายทำ 2 วันแรก ก็เป็นจริง เราได้รับความร่วมมือทั้งจากแพทย์ พยาบาล และญาติผู้ป่วย แต่เราเจอ เคสผู้ป่วยอาการหนักน้อยมาก ภาพไม่พอ เรื่องราวยังไม่ครบ เราก็เริ่มพูดกันว่า เออ ทุกคนปลอดภัย แต่งานเราเริ่มไม่ปลอดภัยแล้ว!! วันสุดท้าย เราเลยไม่ได้ขอย่าโม เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ”
ทีมงานสารตั้งต้นทีมนี้เลือกไปถึงห้องฉุกเฉิน ในเวลา 16.00 - 24.00 น. ตลอดการถ่ายทำตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคม เพราะเป็นกะที่พีคที่สุดของห้องฉุกเฉิน เนื่องจากแผนกอื่นปิดหมด ผู้ป่วยทั้งหมดที่มาถึงโรงพยาบาลจึงต้องมาที่ห้องฉุกเฉินเป็นอันดับแรก
ช่างภาพทั้งสองคนผู้รับบทบาทหนัก ช่วยกันเล่าว่า การถ่ายภาพครั้งนี้กดดันทั้งตัวเนื้องานและกรอบเวลาที่เร่งรีบ ต้องเคลื่อนตัวตลอดเวลา และต้องไม่กีดขวางการทำงานของหมอ พยาบาลด้วย ต้องดูการตอบรับจากญาติผู้ป่วยเป็นสำคัญ ถ้าเขาเริ่มไม่สบายใจ ต้องถอย จนกว่าญาติจะยินยอม
“แต่เราก็พลาดที่ญาติผู้ป่วย เราไม่ได้ระวังภาพ ซึ่งก่อนออกอากาศเราส่งเทปให้โรงพยาบาลตรวจก่อน ก็มีหลายส่วนที่ทางโรงพยาบาลขอให้เราแก้ บังหน้าญาติผู้ป่วย” คำบอกเล่าจากผู้สื่อข่าวของทีม
โปรดิวเซอร์ ช่วยสำทับว่า “แม้เทปนี้ทีมงานถือว่า เข้าใจงานมากที่สุดแล้ว แต่เราก็กังวล เพราะสภาพความเป็นจริงในห้องฉุกเฉิน หมอ พยาบาล ไม่พูดเหมือนเราไปหาหมอปกตินะ บางทีก็มีคำสบถ เขามีอารมณ์เพราะตรงหน้า คือความเป็นความตาย ตอนส่งเทปไป ก็กลัวเขารื้อหมด แต่ก็โชคดีที่ทุกโรงพยาบาลปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามอิริยาบถที่เกิดขึ้นจริง ”
ไล่เรียงประสบการณ์การทำงานจริงในห้องฉุกเฉิน :
พี่จุ๊ฟ กัสกร เล่าห้วงเวลาที่ถ่ายภาพในห้องฉุกเฉินว่า “เวลาถ่ายภาพ เราต้องระวังเรื่องสิทธิผู้ป่วยอยู่แล้ว กลัวด้วยว่า ถ่ายๆอยู่จะคามือเราไหม ซึ่งก็มี ...!!! เราก็ต้องแลก เพราะสารคดีตัวนี้ ต้องทำให้เห็นถึงการช่วยชีวิตคน กลัวเลือดก็มีบ้าง จังหวะเข้าไปถ่าย หมอกำลังเย็บแผล จังหวะผมกำลังปรับโฟกัส แผลแหวะออกมาคากล้องเลยแล้วเคสนั้น...เขาก็เสียด้วย ”
จุ๊ฟ ปสุต “อารมณ์ของทุกคน อยู่นอกโรงพยาบาลก็เฮฮาปกติ แต่พอเข้าไปในห้องฉุกเฉิน หันไปมาไม่มีใครเล่นมุขอะไรเลย มันเป็นความรู้สึกอึดอัด”
แต๋ง ภูริลาภ “ ตรงนั้นมันมีหลายอารมณ์ ฉุนเฉียว บ้าบอคอแตก ขัดแย้งวินิจฉัย สิ้นหวัง เราก็อึนๆ เอียงไปโดยอัตโนมัติ”
นก ปิติพร “บางคนบ้าคลั่ง ดิ้นจนเลือด คนนี้อ้วก อีกคนจะฉี่ ปั้มหัวใจพร้อมกัน 2 คนก็มี”
....และวันสุดท้ายของการถ่ายทำ ซึ่งทีมงานได้โอกาสติดรถฉุกเฉิน ออกไปพร้อมคุณหมอ เพื่อไปดูเคสผู้ป่วยหนัก และได้ภาพ ปั้มหัวใจในรถ จนมาถึงโรงพยาบาล เป็นเนื้อเป็นน้ำมากที่สุด พอมาถึงกรุงเทพ โปรดิวเซอร์ แต๋ง จึงเสนอทีมงาน รื้อโครงเรื่องเล่าใหม่ตามภาพและเรื่องราวจริงๆของแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่ได้ทำงานแค่ให้ห้อง แต่ต้องพร้อมลงพื้นที่ทันทีเพื่อเมื่อวินิจฉัยว่า เป็นเคสที่หนัก และก็ไม่คิดว่า งานชิ้นนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม รวมทั้งหน่วยแพทย์พยาบาล ที่ติดต่อกลับมาทางเพจ เฟซบุ๊กของ “สารตั้งต้น ”
“สิ่งที่อยากนำเสนอ ไม่ใช่แค่ให้เห็นใจแพทย์ พยาบาล ทำงานหนัก แต่เราอยากให้เห็นว่า มีคนป่วยที่ไม่ฉุกเฉินจริง เข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน แล้วแชร์ทรัพยากรที่มีน้อยอยู่แล้วของห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลรัฐในไทย บางทีน้องที่เป็นข่าวมารอหมอพยาบาลวันนั้น อาจไม่ต้องเสียชีวิต แต่เคสนั้น โรงพยาบาลก็ยอมรับว่า วินิจฉัยโรคผิดเพราะบางโรคมันวินิจฉัยยาก แต่กระบวนการคัดกรอง และรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เขาทำเต็มที่อยู่แล้ว แต่น้องคนนั้นถูกแชร์ทรัพยากรไปจากคนที่ไม่ได้ป่วยฉุกเฉินหรือเปล่า ห้องฉุกเฉินงานหนักนะ ไม่ใช่แค่งาน ความรู้สึก อารมณ์ด้วย เราอยู่ไม่ถึง 1 กะของหมอ พยาบาล เรายังคิดเลยว่า เมื่อไหร่งานจะเสร็จ ควรจะเห็นใจเขาหน่อยไม่ใช่ด่าอย่างเดียว” นก ปิติพร ย้ำถึงความตั้งใจในการนำเสนอเรื่องราวของห้องฉุกเฉินและเธอเปลี่ยนความคิดจากที่เคยเป็นหนึ่งที่อคติกับการไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐ
แต๋ง ภูริลาภ เข้าใจการทำงานของแพทย์พยาบาลมากขึ้นและเห็นว่า การรักษาสุขภาพของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสุขภาพของเราไม่ควรโยนให้เป็นภาระของหมอพยาบาลอย่างเดียว และเขาเอง ก็เคยมีประสบการณ์เข้าห้องฉุกเฉินมาแล้วเมื่อปี 2546 และรอดชีวิตจากห้องนั้นมาได้
“กระบวนการทุกอย่าง คัดกรองเคสต่างๆ เขามีอยู่และรักษาตามเคส แต่ถ้าเราเข้าไปเหยียบห้องฉุกเฉิน มันมีโอกาสอยู่แล้ว ที่จะไม่ได้กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะห้องนั้น แพทย์ใช้คำว่า ยื้อชีวิต ไม่ใช่แค่ช่วยชีวิต”
หลังได้เห็นผลงานที่ทั้ง 4 คน ใช้เวลาทุ่มเทเพื่อถ่ายทอดการทำงานของแพทย์ พยาบาล ห้องฉุกเฉิน เพื่อทำความเข้าใจกับสังคมแล้ว ทุกคนยังได้ตระหนักว่า ต้องรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อไม่ต้องไปอยู่ตรงนั้น (ห้องฉุกเฉิน) !!! จะได้ไม่ต้องไปแชร์เวลาของคนที่ฉุกเฉินจริงๆ เงินที่มีเก็บเพื่อไปใช้ท่องเที่ยวไม่ใช่ต้องไปรักษาตัวเอง เพื่อการจากโลกนี้ไปอยากสงบ และอยากให้ทุกคนหลบทางให้กับรถฉุกเฉินของพยาบาล
ให้วินาทีนั้น ถูกใช้ไปอย่างมีค่ากับผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง ....!!!
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้