ไต้ฝุ่น “ฮาโตะ” พัดถล่มจีน-ฮ่องกง ตาย 3 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ฮ่องกงประกาศเตือนภัยระดับสูงสุด เพื่อรับมือกับอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ฮาโตะ” ที่พัดขึ้นฝั่งในวันนี้ ด้วยกำลังลมเทียบเท่ากับพายุเฮอร์ริเคน ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 คน และมีผู้สูญหายอีก 2 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฮ่องกงยกระดับเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นขึ้นเป็นระดับ 10 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่น “ฮาโตะ” ที่มีกำลังลม เทียบเท่ากับพายุเฮอร์ริเคน โดยอิทธิพลของพายุทำให้เกิดฝนตกหนัก และลมกระโชกแรง มีรายงานคลื่นสูงหลายเมตรซัดชายฝั่ง จนน้ำไหลทะลักท่วมถนนหลายสาย บางจุดน้ำสูงถึงระดับหัวเข่า ด้วยกำลังลมสูงสุดกว่า 200 กม./ชม. ไต้ฝุ่นฮาโตะได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วเกาะฮ่องกง โดยในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพและคลิปวิดีโอความรุนแรงของพายุ ไม่ว่าจะเป็นภาพของลมพายุที่พัดเครนก่อสร้างขนาดใหญ่จนไหวเอนรุนแรง ก่อนจะล้มและร่วงลงสู่ถนน รวมถึงภาพของชาวฮ่องกงที่ต้านแรงลมพายุไม่ไหว ถูกพัดล้มระเนระนาดบนถนน


    
ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตที่มาเก๊าแล้วอย่างน้อย 3 คน สูญหายอีก 2 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพายุอีก 34 คน  ส่งผลให้ฮ่องกงในขณะนี้อยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง โรงเรียน สถานที่ราชการ ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ต้องปิดทำการ เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ปิดตลาดซื้อขายในวันนี้ ขณะที่สายการบินหลายสายยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกแล้วเกือบ 500 เที่ยว 

ขณะนี้พายุได้เคลื่อนตัวผ่านเกาะฮ่องกงไปแล้ว ทางการจึงปรับลดระดับเตือนภัยจากระดับ 10 ลงมาเป็นระดับ 8 โดยพายุได้ขึ้นฝั่งที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ตั้งแต่เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ซึ่งทางการท้องถิ่นของจีนได้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Geoscience เมื่อปีที่แล้วพบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นในแถบแปซิฟิกตอนเหนือและตะวันตก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และฟิลิปปินส์ มีพลังทำลายล้างสูงขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเป็นผลจากการที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น  ทำให้พายุสะสมพลังงานได้มากขึ้น และทำให้ความเร็วลมเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้น    นอกจากนี้ยังพบว่า ในบางภูมิภาค พายุที่มีความรุนแรงระดับ 4 และ 5 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 หรือ 3 เท่า ตลอดระยะเวลาดังกล่าว 

เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นนี้เป็นวงจรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่มาจากการกระทำของมนุษย์  เพราะว่าระยะเวลา 40 ปี ยังน้อยเกินไปที่จะสรุปอะไรได้   อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรในอนาคตอย่างแน่นอนและทำให้ภูมิภาคดังกล่าวเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก  

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ