จุดเริ่มต้นโครงการ “จำนำข้าว” ก่อนเข้าสู่การตัดสิน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 25 ส.ค.60 กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่ทุกคนให้ความสนใจ ถึงการตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ถูกดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดความเสียหายต่อภาครัฐกว่า 400,000 ล้านบาท แต่ผลเป็นเช่นไรคงต้องรอการคำพากษาอย่างเป็นทางการ

หากย้อนดูตัวเลขความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลัง พบว่าผลขาดทุนจำนำข้าว 15 โครงการ โดย 11 โครงการแรก สมัยก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 163,000 ล้านบาท และสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 4 โครงการ มีผลขาดทุนจากการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท จำนวน 510,000 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสต๊อคข้าวที่จำนำข้าว พบว่ามีข้าวกว่า 80% จากข้าวในสต๊อคของรัฐบาลกว่า 17 ล้านตัน ไม่ได้คุณภาพ ส่งผลให้โครงการนี้มีผลขาดทุนไม่น้อยกว่า 660,000 ล้านบาท และหากใช้เวลาขายข้าวนาน 10 ปี อาจทำให้ผลขาดทุนเพิ่มเป็น 960,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของโครงการจำนำข้าว

แต่ก่อนที่จะมีคำพากษาของศาลฎีกาอย่างเป็นทางการ ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ขอพาไปทำความรู้จักว่า “จำนำข้าว” คืออะไร  โครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองเลือกเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อนำเสนอต่อฐานเสียงขนาดใหญ่ที่เป็นเกษตรกร กับการแทรกแซงกลไกตลาด ด้วยการรับจำนำข้าวจากเกษตรกรในราคาสูง หวังผลักดันเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่เพิ่มขึ้น

ย้อนกลับสู่ช่วงที่ผ่านมา ตามข้อมูลเอกสารคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โครงการรับจำนำข้าวดำเนินการหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2524 และเกิดอีกครั้งเมื่อสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศนโยบายออกมา หวังเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ก่อนที่สมัยพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลได้เปลี่ยนวิธีประกันรายได้เกษตรกร ด้วยการประเมินราคากลาง โดยไม่ให้เกษตรกรขาดทุนแต่มีกำไรตามความสมควร ด้วยการให้เกษตรกรขายข้าวตามปกติตามราคาตลาด แล้วรัฐบาลจ่ายเงินให้เกษตรกรโดยตรงตามจำนวนเงินที่ประกันไว้ รวมทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพืชผลก็ได้รับเงินชดใช้ด้วย

เพิ่มจำนวนเงินรับจำนำข้าวสูงขึ้นเท่าตัว

แต่โครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2554  แตกต่างจากโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนเงินรับจำนำสูงขึ้นถึงตันละ 15,000 บาท พร้อมกับประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ส่งผลให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

แม้ดูตามหลักของโครงการจำนำข้าว ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะราคาข้าวในเวลานั้นอยู่ที่ตันละ 6,000-7,000 บาท เมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาที่สูงตันละ 15,000 บาท สามารถแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก เมื่อชาวนานำข้าวมาจำนำก่อน เพื่อรอเวลาที่ราคาข้าวสูงขึ้น จึงไถ่ถอนข้าวออกมาจำหน่าย แต่ในทางกลับกันราคาข้าวช่วงนั้นไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดรับจำนำข้าวทุดเม็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากเกือบเท่าตัว ส่งผลให้เกษตรกรไม่ได้กลับมาไถ่ถอนข้าวคืน กลายเป็นสิ่งที่เพิ่มภาระและต้นทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาด 50% แล้ว โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด ยังเกิดการทุจริตได้ง่ายขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองที่พบมีการรับรองที่นาเกินความเป็นจริง  นำบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกร และขนข้าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ หรือแม้แต่โรงสีบางแห่ง หักความชื้นที่เกินความเป็นจริง หรือโกงการชั่งน้ำหนักที่เอาเปรียบเกษตรกร และส่งผลให้ภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บรักษาข้าวที่เป็นระยะเวลานานอีกด้วย

ต้องยอมรับว่า “โครงการรับจำนำข้าว” อาจถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง หากเกิดผลเสียต่อประเทศ ด้วยการใช้งบประมาณที่มหาศาลเกิดความจำเป็น สุดท้ายก็ต้องรอผลสรุปกับคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ