ปรับเกณฑ์บัตรเครดิตลดหนี้ได้จริงหรือไม่ ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้เป็นวันแรกที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มใช้เกณฑ์ใหม่คุมวงเงิน บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กับผู้ขอสินเชื่อรายใหม่ มาตรการดังกล่าวจะช่วย ลดหนี้ได้จริงหรือไม่ 

ความพยายามเพื่อหวังลดภาระผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล (NPL) ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) จึงได้ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล กับ ผู้ขอสินเชื่อรายใหม่ หลังพบข้อมูลว่า หนี้เอ็นพีแอลในสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2560 เพิ่มขึ้น 2.9-3% และ สินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 3.1%เมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2560

ด้าน ชุติเดช ชยุติ รอง ปธ.เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส  บ.บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังกับลูกค้าเก่า และมองว่าเป็นผลดีในแง่ของวินัยทางการเงิน มาตรการนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนในกลุ่มเจนวายใช้จ่ายไม่เกินตัว ลดการก่อหนี้ได้

สำหรับมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตร โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้  โดยรายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า และได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลดลงเหลือ 18% จาก 20%  ส่วนมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า เช่นกัน และให้ได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่เกิน 3 ราย หรือ เท่ากับได้วงเงินสูงสุด 4.5 เท่า

สำหรับมาตรการคุมวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องที่ดีทำให้ลดหนี้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของแต่ละคนด้วย แม้ว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการกำกับวงเงินการขอสินเชื่อเพื่อควบคุมการขยายตัวของหนี้เอ็นพีแอลและหนี้ครัวเรือน แต่เป็นเพียงมาตรการที่ช่วยลดหนี้อีกทางหนึ่งเท่านั้น เพราะในทางกลับกันรัฐยังคงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการมีระเบียบวินัยทางการเงินของแต่ละคน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยลดการก่อหนี้ได้

 

กันตินันท์ คงสมบัติ ถ่ายภาพ

ทองเนื้อเก้า คำพิมพ์ รายงาน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ