สิทธิผู้ประกันตนของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ควรรู้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่มีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย ร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์ และสื่อมวลชน ขอให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แทนการปลูกถ่ายไขกระดูก เนื่องจากเธอกังวลว่า การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก และทำเคมีบำบัด อาจทำให้ร่ายกายทรุดลง จนเสียชีวิตในที่สุด และเธอก็ถูกปฏิเสธ เพราะอาการป่วย ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การให้ยาชนิดนี้ ที่กำหนดจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยระยะเรื้อรัง หรือระยะเริ่มแรกเท่านั้น

ขณะที่ นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับยาตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน การรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าการรักษาวิธีนั้นๆ แล้วไม่ได้ผล หรือไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษา สามารถใช้แนวทางการรักษาอื่นๆ ได้ โดยสำนักงานประกันสังคมคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาพิจารณาการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ประกันตนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไขกระดูกจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานประกันสังคมในอัตรา 750,000 บาทต่อราย หรือ 1,300,000 บาทต่อราย แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ กรณีโรคมะเร็ง สำนักงานประกันสังคมมีการจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย ในกรณีให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อรายต่อปี

ส่วน 10 โรคมะเร็งที่ใช้สิทธิประกันสังคมรักษาได้ ไม่ต้องจ่ายเอง โดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556 การรักษาโรคมะเร็ง 10 ชนิด ซึ่งจะต้องให้การรักษาตามแนวทางที่กำหนด คือ 1. โรคมะเร็งเต้านม 2. โรคมะเร็งปากมดลูก  3. โรคมะเร็งรังไข่ 4. โรคมะเร็งโพรงจมูก  5. โรคมะเร็งปอด 6. โรคมะเร็งหลอดอาหาร 7. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 8. โรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดี 9. โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 10. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก  ส่วนกรณีป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 10 ชนิดดังกล่าว ก็ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็งได้ตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งกรณีที่ต้องให้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา หรือยารักษาโรคมะเร็งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย ต่อปี

สำหรับการใช้สิทธิประกันสังคมก็มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทางสำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ ซึ่งมีรายละเอียด คือ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ซึ่งสถานพยาบาลจะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาพยาบาลสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิจะไม่เรียกเก็บเงินค่าบริการทางการแพทย์จากผู้ประกันตน ยกเว้น มีค่าใช้จ่ายในด้านบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลได้ จะทำการส่งตัวไปรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า (Supra Contractor) โดยผู้ป่วยจะต้องมีใบส่งตัวจากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ 10 โรคมะเร็งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลที่ขึ้นใช้สิทธิประกันสังคมไว้ แต่หากเป็นอาการป่วยที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 10 โรคมะเร็ง ผู้ประกันตนก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็งได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของโรงพยาบาลต้นสังกัดนั้น ๆ ด้วย

    

   
ส่วนในกรณีที่ต้องการรักษามะเร็งโดยใช้สิทธิประกันสังคมกับโรงพยาบาลอื่นที่เราไม่ได้ขึ้นใช้สิทธิประกันสังคมไว้ กรณีนี้ต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดไปถึงโรงพยาบาลที่มีความจำนงจะเข้ารับการรักษา สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ