พบเกษตรกรป่วยโรคเนื้อเยื่อเน่า เสียชีวิตเฉลี่ยปีละกว่า 10 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ทำการเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ยังมีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยังใช้สารเคมีในการปลูกพืช ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ล่าสุดพบเกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู ป่วยด้วยโรคเนื้อเยื่อเน่าตาย โดยอาการจะหนักขึ้นหากร่างกายมีสารเคมีสะสมอยู่

วันนี้ (11 ก.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพผู้ป่วยอาการเนื้อเยื่อตายมีแผลพุพองขนาดใหญ่ที่แขนขวา ของผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 66 ปี ที่พักรักษาตัวอยู่ตึกศัลยกรรม โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ซึ่งต้องผ่าตัดเนื่องจากเกิดอาการเน่าและมีภาวะแทรกซ้อน โดยผู้ป่วยรายนี้ เริ่มต้นมีบาดแผลเพียงเล็กน้อยแล้วไปให้หมอที่รักษาด้วยน้ำมนต์ จนเกิดอักเสบบวมแดงลุกลาม จนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล

นายแพทย์ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ให้ข้อมูลว่า นี่เป็นอาการป่วยของโรคเนื้อเยื่อเน่าตาย โดยได้รับเชื้อแบคทีเรียจากในน้ำ เมื่อมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน หรือโรคไต ทานยาพวกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้อาการลุกลาม และสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืชที่ใช้อยู่จนเกิดการสะสมในร่างกาย ก็อาจมีผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันโรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีผู้ป่วยลักษณะนี้พักรักษาตัวอยู่ 6 คนเป็นชายทั้งหมด อาการโคม่าอยู่ในห้องไอซียู 1 คน  ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 120 คน บางคนต้องตัดอวัยวะทิ้งกลายเป็นคนพิการ ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 หรือประมาณ 12 คนต่อปี สาเหตุจากบาดแผลลุกลามจนเน่าถึงเนื้อ เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต

ขณะที่วันนี้ 8 เครือข่ายต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ออกแถลงการณ์ สนับสนุนมติให้ยกเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลง ที่มีสารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีผลสิ้นปี 2560 นี้  สำหรับสารทั้งสองชนิดส่งผลต่อสุขภาพรุนแรง โดยเฉพาะพาราควอต เป็นสารซึมเข้าตามผิวหนัง มีพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดโรคเนื้อเยื่อผิวหนังเน่า ซึ่งหลายประเทศประกาศยกเลิกใช้สารชนิดนี้แล้ว

ส่วนคลอร์ไพรีฟอส ส่งผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก หากแม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า ไอคิวต่ำ และยังมีรายงานจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อรวมตัวกับโลหะหนักจะทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ จึงจำเป็นต้องจำกัดการใช้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ