หนุ่มสาวออฟฟิศระวัง! “นั่งติดที่” เสี่ยงตายเร็ว - ออฟฟิศซินโดรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“นั่งติดที่” หรือ “นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานนาน ๆ” เป็นสิ่งที่ชาวออฟฟิศต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลที่ได้ตามมาจากการนั่งทำงานนาน ๆ คืออาการปวดหลัง ปวดหัว หรือปวดตามตัว ซึ่งอาการเหล่านี้ คืออาการของ “โรคออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยกับเหล่าพนักงานออฟฟิศนั่นเอง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานงานวิจัยเรื่องหนึ่งของสมาคมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ภาควิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียประเทศสหรัฐฯ ว่า การนั่งเป็นระยะเวลานานๆ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เพศใด เชื้อชาติอะไร หรือ ออกกำลังกายบ่อยแค่ไหน เนื่องจาก พฤติกรรมนั่งติดที่อาจทำให้ภาวะความไวต่ออินซูลินซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาระดับกลูโคสในเลือดลดลง หรือทำให้การเผาผลาญแคลอรี่ในร่างกายมีน้อยลง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำว่า ควรลุกขึ้นยืนและเดิน ทุกๆ 30 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 5 นาที ( อ่านข่าว : นักวิทย์ชี้พฤติกรรม “นั่งติดที่” ทำให้ตายเร็ว )

ทั้งนี้ การนั่งติดที่นานๆ นั้นหากนั่งผิดวิธี ผิดท่า ไม่เพียงแต่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็น "โรคออฟฟิศซินโดรม" อีกด้วย

“โรคออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) คือโรคที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน ไม่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงการปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน และหากมีความเครียดจะส่งผลให้โรคนี้ให้รุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดตา หน้ามืด เป็นต้น ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งคือ โรคนี้จะทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตามมาอีกด้วย

ดังนั้น หากชาวออฟฟิศไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ และโรคออฟฟิศซินโดรม ยังรวมไปถึงระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เนื่องจากการทำงานอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งวนเวียนอยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม “โรคออฟฟิศซินโดรม” สามารถป้องกันได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน คือ

1.ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที

2.หากใช้คอมพิวเตอร์ ควรให้กึ่งกลางของจออยู่ในระดับสายตา

3.แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ หากใช้เมาส์ควรพักข้อศอกบนที่รองแขนที่เก้าอี้

4.กระพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที

5.ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง

6.ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์

7.รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และครบ 5 หมู่  



ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ